เห็นว่ารู้นี้ไม่ใช่เรา และขันธ์ 5 ที่มีอยู่นี้ก็เป็นภาระจำยอม

คำถาม:

เรียนกับหลวงพ่อมา 13 ปีแล้ว เข้าใจในคำสั่งสอนของหลวงพ่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยอมรับความเป็นธรรมดาของโลกได้มากขึ้น เห็นแล้วว่า “รู้” นี้ ไม่ใช่เรา และขันธ์ 5 ที่มีอยู่นี้ก็เป็นภาระจำยอม ยอมให้มันเป็นทุกข์ไป ยอมให้มันเป็นภาระไป ขอโอกาสหลวงพ่อเมตตาแนะนำการปฏิบัติต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เราเริ่มเห็นขันธ์ทั้งหลายตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารอะไรนี้ มันไม่ใช่เรา มันเห็นแจ่มแจ้งแล้ว วิญญาณเราก็เห็น จิตมันจะไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็บังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ แต่ว่ามันยังไม่ตัดความเป็นตัวเป็นตน ยังเหลืออยู่ ค่อยๆ ภาวนา ที่ทำอยู่นี้ถูกแล้ว พอมันพอ มันทำถูกแล้วมันพอเมื่อไร มันก็จะละความเห็นผิดได้เด็ดขาด ค่อยๆ ฝึก ที่ทำอยู่ใช้ได้ แต่ตอนนี้ระวังนิดหนึ่ง ขณะนี้จิตไม่อยู่ในฐานแล้ว ลองหายใจสิ หายใจสบายๆ อย่าดึงจิต หายใจเฉยๆ อย่าน้อมจิตให้ซึม หายใจเฉยๆ ไม่แตะต้องจิตเลย หายใจเฉยๆ ตรงนี้กับเมื่อกี้ต่างกันแล้วรู้สึกไหม ตรงนี้คือสภาวะที่จิตตั้งมั่นจริงๆ

ฉะนั้นเราสังเกต จิตตั้งมั่นบ้าง จิตไม่ตั้งมั่นบ้าง อย่างตรงนี้ไม่ตั้งมั่น จะต่างกันแล้ว ดูออกแล้วใช่ไหม สังเกตไป เราจะเห็นเลยจิตที่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ตั้งมั่นก็บังคับไว้ไม่ได้ จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็ห้ามมันไม่ให้เกิดไม่ได้ เรียนรู้ไปมากๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวตนของตน ตัวตนของตนไม่มี ค่อยๆ ดูไป จิตมีปีติรู้ว่ามีปีติ อันนี้เป็นแค่สังขารอันหนึ่งที่ผุดขึ้นมา เราเห็นกระทั่งตัวจิตเอง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ตั้งมั่นถูกต้อง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้ไหลไป จิตทั้งวันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวไหลไป ตัวนี้เราเห็นไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมันพอ มันพอมันก็จะตัดกิเลสเอง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564

เวลาฟังธรรมหรือนั่งสมาธิ จิตมักจะเข้าไปจับอารมณ์นิ่งๆ ว่างๆ แล้วก็หลับไป

คำถาม:

เวลาผมนั่งฟังธรรมหรือนั่งสมาธิ จิตมักจะเข้าไปจับอารมณ์นิ่งๆ ว่างๆ อยู่ข้างใน แล้วก็หลับไป เป็นอย่างนี้อยู่หลายปี ผมแก้ไขตัวเองด้วยการฝึกรู้ทีละขณะ คือเวลานั่งฟังธรรม ก็จะฟังทีละขณะแล้วฟังใหม่ เวลานั่งสมาธิ ก็จะรู้อิริยาบถที่นั่ง หรือรู้ร่างกายที่กำลังหายใจทีละขณะ แล้วรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ ก็พอจะช่วยแก้ไขเรื่องนั่งแล้วหลับได้ ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะเพิ่มเติมให้ด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:

นั่นล่ะทำไปเถอะ มีชีวิตอยู่เป็นขณะๆ ไปนั่นล่ะดีแล้ว ยกเว้นเวลาต้องการความสงบ ก็พักเข้าไปเลย อย่างบางทีเราจะนอน เราจะไปรู้ทีละขณะๆ ไม่นอนหรอก เราก็รู้สึกไป บริกรรมไปอะไรไป ใจมันสว่างว่างขึ้นมา เราก็ทรงอยู่อย่างนั้น ถ้าเราต้องการอยู่อย่างนั้นทั้งคืนมันก็อยู่ได้ ก็ได้สมาธิ ถ้าเราต้องการพักเราก็คลายจิตออก จากที่เราไปมีสติอย่างแข็งแรงอยู่ คลายออกมันก็จะหลับ การภาวนาถ้าสติเราแข็งแรงพอไม่หลับหรอก ที่นั่งแล้วหลับๆ เพราะสติมันไม่แข็งแรง แต่มันมีหลาย factor ถ้าร่างกายเราเหนื่อยมันก็หลับเหมือนกัน หรืออีกอย่างหนึ่งจิตมันเหนื่อย จิตก็หลับเหมือนกัน

หลวงพ่อก็เคยเป็นเมื่อปีพ.ศ. 2526 นั่งสมาธิก็หลับ เดินจงกรมก็หลับ ทำอะไรก็หลับ ทั้งๆ ที่สติเข้มแข็งมากเลย ตั้งแต่เด็กๆ ทำสมาธิ เจริญสติอะไร แข็งแรง แต่ถึงช่วงนั้นหลับลูกเดียวเลย ทำอย่างไรก็ไม่หาย ไปถามหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมบอก “ให้ทำไปเถอะ อย่าสงสัยเลย” เราก็ทำไป หลับก็ช่างมันไม่ปฏิเสธมัน ในที่สุดจิตมันได้พักพอ พอมันมีกำลัง บางทีมันหลับตรงนี้ มันหลับเพราะว่า เรียกว่า “นิพพิทา” จิตมันเบื่อโลก จิตมันเบื่อโลกมันก็หนีด้วยการหลับ

ฉะนั้นเราไปดูตรงที่นั่งแล้วหลับ นั่งแล้วหลับมันมีหลายอย่าง ถ้าร่างกายเหนื่อยแล้วหลับไปนอนเสีย แล้วถ้าสติเราอ่อนไปนั่งแล้วหลับ สมาธิมันล้ำหน้า เราเพิ่มพลังของสติขึ้น รู้สึกขึ้นๆ เป็นขณะๆ ไป แต่ถ้าจิตมันเกิดปัญญาแล้ว มันมีนิพพิทาญาณเกิดขึ้น มันเบื่อหน่ายแล้วมันจะพัก แสดงว่าเราเข้าฌานน้อยไป ทำความสงบน้อยไป จิตมันก็เลยหนีด้วยการเข้าไปหลับ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ไปฝึกมีชีวิตอยู่ทีละขณะนั่นล่ะดีแล้ว พัฒนาขึ้นเยอะ ดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564

จิตเห็นว่าไม่มีเราที่ไหนเลยทุกอย่างว่างๆ โล่งๆ จิตห่างโลก

ภาวนาถูกแล้ว ก็ทำให้มาก ทำให้เจริญ ไม่มีจิตชนิดไหนเลยที่เราสั่งได้ ไปดูตัวนี้บ่อยๆ ไม่มีจิตดวงไหนที่เราสั่งได้ สั่งให้เป็นจิตรู้ตลอดก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าเกิดจิตคิด ก็สั่งไม่ได้ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าจิตทุกชนิด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สั่งไม่ได้ ไปดูซ้ำๆ ตรงนี้

ต้องโฟกัสกับงาน มีเวลาปฏิบัติในรูปแบบน้อย

คำถาม:

ช่วงที่ผ่านมามีเวลาปฏิบัติในรูปแบบค่อนข้างมาก เวลาระหว่างวันมีสติรู้เนื้อรู้ตัวดี รู้สึกโลกห่างๆ ออกไป แต่ปัจจุบันต้องกลับมาโฟกัสกับงานมากขึ้น เวลาปฏิบัติในรูปแบบน้อยลง รู้สึกกลับมาเป็นเนื้อเดียวกับโลก ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่าการปฏิบัติตอนนี้ยังอยู่ในร่องในรอยหรือไม่ครับ

 

หลวงพ่อ:

อยู่ เรามีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะๆ เราก็เรียนรู้ไปให้มากๆ จำเป็นต้องไปตะลุมบอนกับโลก เราก็ไปแบบลูกศิษย์มีครู เวลาจิตเราเครียดกับงานนี่ รู้ทันไปเลย เวลาคิดอะไรไม่ออก กลับมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับคำบริกรรมอะไรอย่างนี้ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันจะคิดอะไรต่ออะไรง่ายขึ้น เวลาคิดไม่ออกอะไร อย่าตะบี้ตะบันคิด ไม่ได้เรื่องหรอก ทำใจให้สบายก่อน เราจะได้เปรียบคนอื่น หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อทำงานได้เปรียบคนอื่นเยอะเลย ฉะนั้นทำงานที่ไหนก็โตเร็ว โตพรวดพราดเลย เพราะเราทำงานได้ดี เพราะว่าสมาธิเราดี

อย่างเอกสารเป็นตั้งๆ อย่างนี้ อ่านเพื่อจะดึงประเด็นออกมา วิเคราะห์อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรเป็นเหตุหลัก อะไรเป็นเหตุรอง จะแก้ปัญหาอันนี้ เรามีทรัพยากรอะไร ถ้าแก้ปัญหาหลักไม่ได้ แก้ปัญหารองไปก่อนอะไรอย่างนี้ มันจะรู้ กำหนดยุทธวิธี กำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดยุทธวิธีในการทำงานที่ซับซ้อนนี่ เราทำได้ดี เพราะใจมีสมาธิ นี้ถ้าเราเครียดกับงาน เราเกลียดงาน เพราะช่วงที่ผ่านมาเราว่างๆ ไม่ได้ทำมาหากิน ไม่ได้ทำงาน พอต้องมาทำงานนี่ โหย รู้สึกวุ่นวายเหลือเกิน หงุดหงิด ไม่สบายอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทันใจที่หงุดหงิด ให้บอกตัวเองว่าตอนนี้มีหน้าที่ต้องทำ วัยทำงานต้องทำงาน ถ้าขืนเอาวัยทำงานไปพักผ่อน วัยพักผ่อนจะต้องทำงาน มันจะลำบาก ฉะนั้นตอนนี้ทำงานไป เลี้ยงตัวเองให้ได้ วางแผนอนาคตให้ดี มีหน้าที่ดูแลครอบครัวอะไรต่ออะไรก็ทำไป มีหน้าที่ต่อองค์กรก็ทำไป มีหน้าที่ต่อบ้านเมืองก็ทำไป แต่ทำไปแบบรู้เท่าทัน ทำไปแบบไม่ใช่ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไรอย่างนี้ ท้อแท้ได้แต่มีสติรู้ทันไว้ ไม่ใช่ปล่อยความท้อแท้มาครอบงำใจ จะหมดเรี่ยวหมดแรง ทำงานในทางโลกก็ไม่ดี ทางธรรมก็ไม่เจริญ

แต่ถ้าเราทำงานด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเรื่อยๆ งานก็ดี ธรรมะก็เจริญได้ ฉะนั้นโลกธรรม ถ้าเราภาวนาจริงๆ ทั้งโลก ทั้งธรรมนี่ มันไปด้วยกันได้ มันไม่ได้ขัดแย้งอะไรหรอก อดทน ถ้าหากเรารู้สึกว่าไม่อยากทำงานเลย แสดงว่าเราติดสงบ เบื่อโลก อยากจะหนีโลก อาการอย่างนี้เป็นอาการของคนที่ติดในความสุข ความสงบ ฉะนั้นเราภาวนาอย่าไปติดในสุข ในสงบ อยู่ตรงไหนก็เหมือนกันหมด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ

คำถาม:

ผมเป็นคนฟุ้งซ่าน ช่างคิด ขี้สงสัย จิตออกนอก หลงบ่อย ทำให้ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ยาก ไม่สามารถดูสบายๆ ดูซื่อๆ ได้เลยครับ ต้องตั้งใจดู ซึ่งก็กลายเป็นเพ่งไป พอเพ่งก็อึดอัด ปวดหัว ถ้าไม่เพ่งจิตก็หลงไป กรรมฐานที่ทำอยู่ประจำคืออานาปานสติครับ โดยดูลมพร้อมนับเลขแบบซับซ้อนนิดหนึ่งไปด้วย เพราะบริกรรมพุทโธก็เอาไม่อยู่ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่าควรปฏิบัติอย่างไรดีครับ

หลวงพ่อ:

จิตมันเป็นอนัตตา สั่งให้สงบ สั่งไม่ได้ สั่งให้ดี สั่งไม่ได้ สั่งให้สุข ก็สั่งไม่ได้ เราทำเหตุไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐาน อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ยังไม่ไหว นับไป หรือ พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆๆ อะไรอย่างนี้ก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ไป แล้วจิตมันก็สงบของมันเองล่ะ อยู่ๆ จะไปสั่งจิตให้สงบ อย่าไปตั้งเป้าผิด ถ้าตั้งเป้าว่าทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มันไม่สงบหรอก ตั้งเป้าว่าเราทำสมาธิเพื่อจะทำ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นี่เราปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป ไม่หวังผลว่าจะต้องสุข ต้องสงบ ต้องดี ถ้ายังหวังผลอยู่ ไม่สงบหรอก เพราะใจมันโลภ ฉะนั้นเราทำนี่ ไม่ได้หวังผลอะไร ลองไปปรับตัวนี้เสีย อย่าหวังผล ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป แล้วจิตจะสงบก็ช่างมัน จิตไม่สงบก็ช่างมัน ขอให้ได้ปฏิบัติเท่านั้น

ทำไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้หวังผล จิตมันจะสงบอย่างรวดเร็วเลย นี้เป็นเคล็ดวิชา ถ้าเราหวังผล จิตจะไม่มีความสุข จิตไม่มีความสุข สมาธิจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้หวังผล เราถือว่า ทุกลมหายใจเข้าออกเหมือนดอกไม้บูชาพระ เคารพพระพุทธเจ้า หายใจนี่เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ ทำโดยไม่ได้หวังผล แล้วจะได้ผลดี แต่ถ้าทำแล้วหวังว่าจะสงบ เมื่อไหร่จะสงบๆ ไม่สงบสักทีเลยโว้ยอะไรอย่างนี้ ไม่สงบหรอก ไปปรับทัศนคติเสียตรงนี้ ไม่ได้ทำเอาดี เอาสุข เอาสงบหรอก แต่ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็สงบเอง ง่ายๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

เห็นสภาวะ แต่จิตไม่มีกำลังมากพอ

คำถาม:

ทำสมาธิภาวนา เห็นว่ากายไม่มี กายว่างเปล่า มีจิตเป็นตัวรู้สภาวะ เห็นจิตเกิดดับบังคับไม่ได้ค่ะ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เห็นก็ดีแล้ว แต่ใจมันต้องแข็งแรงกว่านี้หน่อย ใจยังไม่ค่อยมีกำลังหรอก มันเห็นไปอย่างนี้ มันต้องเห็นแบบ แหม องอาจ ผึ่งผาย อืม เห็น ถ้าเห็นอย่างนี้ เห็นแบบเหี่ยวๆ อย่างนี้ จิตไม่มีกำลังพอ หนูลองหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้น เราทำทุกวันๆ หรือเราเดินจงกรมไป เคลื่อนไหวแล้วทำในรูปแบบไปเรื่อยๆ จิตเราจะมีกำลังขึ้นมา ของหนูนี่ไปทำในรูปแบบ ทำไปเรื่อยๆ พอจิตมันมีกำลังเข้ามา มันจะเห็นสภาวะแล้ว ที่ผ่านมามันเห็นสภาวะ แต่มันเห็นแบบจิตใจห่อเหี่ยวไปหน่อย มันยังไม่มีแรงที่จะตัดกิเลสเลย นี้ถ้าใจเราเข้มแข็ง ทำในรูปแบบทุกวันๆ ใจจะมีกำลังขึ้นมา พอเห็นสภาวะปุ๊บ บางทีปัญญามันตัดเลย เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เข้าใจขึ้นมา ฉะนั้นเราเพิ่มพลังของสมาธิขึ้น แล้วการเดินปัญญามันจะราบรื่นขึ้น มิฉะนั้นเราเหมือนจะเห็นๆ แต่มันไม่มีแรงพอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

สมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าตัวเซลฟ์ทำให้อยู่กับโลกยากมาก

คำถาม:

ปีที่แล้วหลวงพ่อให้ไปดูตัวเซลฟ์ ตัวอัตตา ทีแรกก็คิดว่าเห็น แต่จริงๆ ยังไม่เห็น ทราบภายหลังจากอาจารย์ผู้ช่วยสอนว่าสมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าที่ลูกเข้ากับคนได้ยากก็เป็นเพราะตัวเซลฟ์นี้ และทำให้อยู่กับโลกยากมาก ขอหลวงพ่อชี้แนะต่อด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ใช่ ที่ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ ถูกแล้ว การที่เราจะเห็นว่าเรามีเซลฟ์ เซลฟ์ก็ไม่ใช่เรา จิตเราก็ต้องมีสมาธิพอ ฉะนั้นทุกวันต้องทำในรูปแบบ เราจะได้จิตที่มีกำลังขึ้นมา ฉะนั้นที่ผู้ช่วยสอนเขาสอนก็ถูกแล้วล่ะ สมาธิเป็นของที่ทิ้งไม่ได้ ฆราวาสนี่มีจุดอ่อนตรงที่ขาดสมาธิกับขาดความต่อเนื่อง 2 ตัวนี้เป็นปัญหาใหญ่ของฆราวาส นี้ถ้าเราจะแก้ปัญหาก็คือเรามีวินัย ทุกวันต้องปฏิบัติ ทุกวันทำในรูปแบบอะไรอย่างนี้ เราก็จะมีความต่อเนื่อง แล้วก็มีสมาธิขึ้นมา แล้วก็กำลังเราดีขึ้นมาแล้ว

อยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเจริญสติ เจริญปัญญาได้ ถ้าสมาธิเราไม่พอ เราดูสภาวะไม่รู้เรื่องหรอก มันเหมือนน้ำกระเพื่อม เรามองไม่เห็นว่าก้นสระน้ำนี้มีอะไร แต่ถ้าน้ำมันนิ่ง เรามองทะลุลงไปเห็นก้นสระน้ำได้ ฉะนั้นเราจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจเราเอง มานะอัตตาที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจอะไรอย่างนี้ จิตเราก็ต้องนิ่งพอ สงบพอ ฉะนั้นเราทิ้งสมาธิไม่ได้หรอก ทุกวันก็ต้องฝึกไว้ เราถึงจะเห็นสภาวะได้ชัด พอเห็นแล้ว เราก็รู้ว่านี่มันไม่ดีไม่งาม ถ้าจิตมันรู้เท่ารู้ทัน เดี๋ยวจิตมันค่อยๆ ละ ถ้าเราละเรื่องเซลฟ์จัดได้ ต่อไปเราจะเข้ากับคนอื่นได้ เราจะมีเพื่อนมากขึ้น คนเซลฟ์จัดไม่มีเพื่อนหรอก คนเซลฟ์จัดไม่มีใครชอบหรอก ทำไมคนไม่ชอบคนเซลฟ์จัด เพราะทุกคนเซลฟ์จัด เซลฟ์มันชนกัน

ถ้าเราฝึกของเรา ไม่เซลฟ์จัด เราอยู่ตรงไหน เราก็มีความสงบสุข มันจะเหลือแต่เหตุผล คนอื่นเขาเสนอความเห็นมา ถ้าเป็นสมัยเซลฟ์จัด เราก็จะรู้สึกไม่ถูก เราเท่านั้นที่ถูก พอเราลดเรื่องเซลฟ์จัดได้ เราจะฟัง นี่เป็นความเห็นที่ดี เราก็รู้จักเอามาใช้ประโยชน์ มันมีประโยชน์เยอะเรื่องกรรมฐาน เอาไปใช้ได้จริงๆ เลย เราเข้ากับโลกได้ เข้ากับคนได้ อยู่อย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่อยู่แบบบ้าเลือด พวกเซลฟ์จัดนี่มันคล้ายๆ หมาบ้า เจออะไรมันกัดแหลกเลย อะไรมากระทบก็ไม่พอใจ กัดเละเทะไปหมด นี้เราไม่ใช่หมาบ้า เราภาวนา เราจะเป็นคน เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นๆ ดี ที่ฝึกอยู่ใช้ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

เริ่มเห็นจิตที่หนีไปคิดได้บ้าง แต่บางวันก็ยังฟุ้งซ่านอยู่มาก ถ้าวันไหนลืมเตือนตัวเองก็จะเผลอไปนาน

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งที่แล้ว หลวงพ่อให้โยมไปเดินจงกรมแล้วรู้ทันจิตไป เอาจิตเป็นหลัก ไม่ได้เอาคำบริกรรมหรือการเดินเป็นหลัก โยมก็นำไปปฏิบัติตาม ก็เริ่มเห็นจิตที่หนีไปคิดได้บ้าง แต่บางวันก็ยังฟุ้งซ่านอยู่มาก ในระหว่างวันก็จะพยายามรู้กายที่เคลื่อนไหว แต่ก็ยังมีความจงใจและต้องคอยบอกตัวเองบ่อยๆ ให้รู้สึกตัว ถ้าวันไหนลืมเตือนตัวเองก็จะเผลอไปนาน ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะข้อผิดพลาด และขอการบ้านไปปฏิบัติให้พัฒนาต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอกที่ทำอยู่ มันค่อยๆ ดี แต่มันไม่ได้ดีปุบปับทันใจหรอก สติ สมาธิ ปัญญาอะไรพวกนี้มันเป็นของเสื่อม บางวันก็มีสมาธิ บางวันก็ไม่มีสมาธิ บางวันสติเกิดเร็ว บางวันเกิดช้า เผลอไปตั้งชั่วโมงแล้วยังไม่รู้เลยอะไรอย่างนี้ เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอก หน้าที่ของเราทำเหตุไปเรื่อยๆ แล้วผลมันเป็นเอง เราจะเห็นว่าถึงเราทำเหตุทุกวันเหมือนกัน แต่ผลที่ได้ในแต่ละวันนี่ไม่เคยเหมือนกัน วันนี้จิตสงบ วันนี้จิตฟุ้งซ่าน วันนี้สติเกิดบ่อย วันนี้สติไม่ยอมเกิดอะไร วันนี้เห็นไตรลักษณ์ วันนี้ไม่เห็นเลยอะไรอย่างนี้ เราจะเห็นว่าทำเหตุเหมือนกัน คือปฏิบัติเหมือนกันทุกวันๆ ผลที่ได้ไม่เคยเหมือนกันหรอก แล้วก็ไม่ต้องทำให้มันเหมือนกัน เราจะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว มันมีสิ่งที่ error อยู่ เราควบคุม input เหมือนกันทุกวันเลย ปฏิบัติเหมือนกัน output ไม่เคยเหมือนกัน ผลที่ได้

มันมีสิ่งที่ error อยู่ ตัวนี้ล่ะคือตัวไตรลักษณ์ เห็นไหมจิตบางทีก็สงบ บางวันก็สงบ บางวันทำอย่างไรก็ไม่สงบ เพราะจิตนี้เป็นไตรลักษณ์ นี่ธรรมะมันสอนเรา แต่เราคิดว่าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะ ถ้าเป็นธรรมะต้องดีตลอด ต้องสุข สงบตลอด ฉะนั้นการที่มันเห็นมันแปรปรวน นั่นล่ะธรรมะ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะรู้เลยว่าไม่น่าตกใจ จิตฟุ้งซ่านก็ไม่น่าตกใจ จิตสงบก็ไม่น่าดีใจ จิตสงบเดี๋ยวมันก็ฟุ้ง จิตฟุ้งซ่านก็ไม่น่าเสียใจ ฟุ้งซ่านได้เพราะว่าเราบังคับมันไม่ได้ แต่ว่าเราปฏิบัติเราทำเหตุสม่ำเสมอ เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจน ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ที่ฝึกอยู่ดีมากๆ ด้วย ไปฝึกเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

วิธีปฏิบัติที่ช่วยให้จิตใจเข้มแข็งได้มากขึ้น

คำถาม:

ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง ฟุ้งซ่าน เพราะว่ามายุ่งกับเรื่องทางโลกเยอะค่ะ จะรู้ได้เฉพาะเวลาที่มีโทสะ แต่เวลามีโมหะก็จะหลงไปยาว จะมีวิธีปฏิบัติที่ช่วยให้จิตใจเข้มแข็งได้มากขึ้นไหมคะ

 

หลวงพ่อ:

ช่วงนี้เป็นช่วงยากลำบากในทางโลก มันต้องปากกัดตีนถีบ ต่อสู้ มันก็เป็นช่วงที่หลวงพ่อเห็นใจพวกเราทุกคน มันเหนื่อยในทางโลก จะให้จิตเข้มแข็งมีกำลัง ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอะไร ทำลำบาก มันตะลุมบอนอยู่กับโลก มันฟุ้งซ่านอยู่กับโลก เอาเท่าที่ได้ ทำเท่าที่ได้ ตอนไหนไม่ใช่เวลาที่จะต้องต่อสู้เพื่ออยู่กับโลก มีเวลาของตัวเองนิดๆ หน่อยๆ ให้สิ่งซึ่งมีคุณค่ากับชีวิตเราเอง อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจไป จิตมันฟุ้งซ่าน เพราะมันเที่ยวจับอารมณ์โน้นที จับอารมณ์นี้ที อย่างเวลาเรามีเรื่องที่ต้องคิดอย่างนี้ อย่างคิดว่าจะทำมาหากินอะไรดีอะไรอย่างนี้ ลำบาก งานการลำบากอะไรอย่างนี้ จะห้ามมันไม่ให้คิด ห้ามไม่ได้ มันจะคิดก็ไม่ว่ามันหรอก เราก็ค่อยๆ สังเกตไป ตอนไหนไม่ใช่เวลาที่จะคิดเรื่องงานเรื่องการ มาอยู่กับพุทโธ มาอยู่กับลมหายใจไป เก็บแต้มของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว การแก้ปัญหาชีวิตมันจะง่ายขึ้น

หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง บอกว่าสมาธินี่มันช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างดีเลย ฉะนั้นหลวงพ่อพุธจะเป็นพระที่ทันสมัย สอนคนที่อยู่ในเมืองได้ดีมากๆ หลวงพ่อลูกศิษย์ท่านล่ะ ท่านเล่าให้ฟังบอกว่ามันมีสถาปนิกคนหนึ่ง คนจ้างให้ออกแบบอาคารหลังหนึ่งซึ่งมันซับซ้อนมากเลย คิดอย่างไรก็คิดไม่ตก นั่งคิดเป็นวันๆ เลย คิดไม่ตกเลยว่าจะทำอย่างไร พอคิดไม่ตก เขาก็นอน ตอนที่ตื่นนอนมานี่ มีสติ รู้สึก เห็นร่างกาย เห็นจิตใจ เห็นร่างกายมันตื่นขึ้นมา จิตมันสงบ มันตั้งมั่น แล้วท่านบอกว่าเขาเห็นแปลนที่จะต้องเขียนมันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเลย ตึกหลายชั้นนี่มันเห็นเป็นภาพๆๆ ออกมา ไม่ได้คิดเลย จิตมันสอนออกมา จิตมันแสดงออกมา ปรากฏว่าเขาทำงานที่ยากลำบากนี้สำเร็จได้อย่างง่ายดายเลยด้วยจิตที่มีสมาธิ

จิตที่มีสมาธิ ถ้าพวกเราไม่มี เราไปสังเกตตอนที่เราตื่นนอน ตอนที่ตื่นนอนยังไม่ได้ทันคิดเรื่องงาน ตรงนั้นล่ะพอจะมีสมาธิอยู่บ้าง ฉะนั้นเวลาตื่นนอนเป็นเวลาสำคัญ เป็นนาทีทองของชีวิตเรา ตื่นนอนขึ้นมา อย่านอนบิดขี้เกียจ ฟุ้งซ่านอะไรไปเรื่อยๆ ตื่นนอนก็ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกกายรู้สึกใจไป จิตมันจะมีสมาธิขึ้นมา เราจะคิดแก้ปัญหาที่ยากๆ ได้ หลวงพ่อก็ใช้วิธีนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาเราคิดอะไรไม่ออก หลวงพ่อไม่ตะบี้ตะบันคิด ขอใช้ศัพท์ไม่สุภาพ มันเห็นภาพดี หลวงพ่อไม่ตะบี้ตะบันคิดเวลาคิดอะไรไม่ออก ไม่คิดมันหรอก ไปทำอย่างอื่นก่อน ไปอ่านการ์ตูน ไปอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วก็ทำใจสบายๆ บางทีนั่งสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์อยู่ เรารู้เลยว่าเราจะต้องทำอะไร ตอนไหน มันรู้ขึ้นเองเลย กำลังของสมาธินี่ บางทีเช้าๆ ตื่นนอน ตื่นตอนเช้าขึ้นมา นึกถึงการปฏิบัติ มันรู้เลยว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร หรือวันนี้จะเทศน์อะไร บางทีรู้แต่เช้าว่าวันนี้จะเทศน์อย่างนี้ ไม่ได้มีการเตรียมโผ หรือบางทีเช้าๆ มันไม่เกิดธรรมะ หลวงพ่อก็มานั่งจิบน้ำร้อนน้ำชา เดี๋ยวก็มีธรรมะว่าควรจะแสดงธรรมเรื่องอะไร นี่เป็นเรื่องของสมาธิทั้งหมดเลย

ฉะนั้นเวลาที่จิตเรามีปัญหามาก อย่าไปดิ้นรนว่าทำอย่างไรจะหายๆ คิดไม่ออกแล้วโว้ย ทุบกบาลอีก ธรรมดาก็โง่อยู่แล้ว ยังไปเขกหัวให้มันโง่กว่าเก่าอีก ก็อย่าไปโมโห หนูรู้สึกไหม จิตตอนนี้ดีกว่าตะกี้ รู้สึกไหม จิตตอนนี้มันตื่นขึ้นมา มันโปร่ง มันโล่ง มันเบาขึ้นมาทั้งๆ ที่หลวงพ่อยังไม่ได้สอนอะไรเราเท่าไหร่เลย แต่จิตเราเปลี่ยนแล้ว เพราะจิตเรารับธรรมะได้ ไม่ต้องไปคิดค้นคว้า จิตมันฟังธรรมะ ฟังไป จิตมันสงบ จิตมันมีสมาธิขึ้นมา มันจะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ มันจะรู้ขึ้นมาเอง แล้วตอนนี้เราจะคิดแก้ปัญหาชีวิตได้ดีกว่าคนอื่น อย่างพวกเล่นหุ้นเล่นอะไร แล้วก็ฟุ้งตลอดเวลา ไม่ได้กินหรอก ถ้าข้อมูลไม่แม่น

จะลงทุนจะทำธุรกิจ จะอะไรนี่ จัดการกับใจของเราให้ได้ก่อน ถ้าใจเรามีสมาธิ มันจะไม่มีอคติ ไม่มี bias มันจะมองปัญหาอะไรได้ตรงไปตรงมา มากกว่าพวกที่มี bias อย่างพวกที่โลภมากอย่างนี้ จะลงทุนดีไม่ดีอะไรนี้ โลภมากประเดี๋ยวก็พลาด ถ้าใจมีสมาธิ ไม่โลภ มันรู้เลยว่าตอนไหนควรจะทำอะไร จะลงทุนอะไรตอนไหน ตอนไหนจะถอย ตอนไหนจะก้าวไปข้างหน้า มันจะรู้ของมันเอง มันรู้จังหวะชีวิตของตัวเองได้เลย เพราะฉะนั้นสมาธินี่ฝึกเอาไว้เถอะ ไม่ใช่สมาธิเคลิ้มๆ สมาธิรู้เนื้อรู้ตัวนี่ล่ะ ฝึกเอาไว้ แล้วจะเอามาใช้งานทางโลกได้เยอะแยะเลย อย่างตอนนี้จิตเรามีกำลังขึ้นมาแล้ว เราก็รู้สึกลงไป ถ้าจะเดินในทางธรรมต่อ เราก็ดูลงไป ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา จิตก็ไม่ใช่เรา สั่งให้ดีไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้ นี่ดูมันไป ถ้ายังมีภาระทางโลก จิตมันจะวกไปคิดหาคำตอบทางโลกเอง แล้วมันจะรู้คำตอบแบบง่ายๆ ไม่ค่อยผิดหรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

ดูลมหายใจเข้า-ออก บ่อยครั้งจะติดสมถะ

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งแรก ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อมาประมาณ 3 ปี ภาวนาโดยการดูลมหายใจเข้า-ออก บ่อยครั้งจะติดสมถะ จึงเปลี่ยนมาดูร่างกาย ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ต้องแนะมากคนนี้ ที่ภาวนาอยู่ใช้ได้ ดีแล้วล่ะ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ระวังอันเดียวว่าจิตมันไม่เข้าฐาน เวลามันตั้งอยู่นี่ บางทีมันอยู่นอกฐาน ลองหายใจสิ ลองหายใจสบายๆ อย่าดึงจิต อย่าไปยุ่งกับจิต หายใจเฉยๆ รู้สึกไหม ตรงนี้กับตะกี้ไม่เหมือนกัน เมื่อกี้จิตมันยังอยู่ข้างนอก พอมันเข้ามาอยู่ตรงนี้เห็นไหมว่ามันทุกข์ มันจะเริ่มรู้ทุกข์ แต่ถ้าจิตไปอยู่ข้างนอกจะไม่เห็นทุกข์ ทำไมไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ทุกข์อยู่ที่กายที่ใจนี้

ฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ จิตอยู่กับกายกับใจจริงๆ เราจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม เห็นทุกข์ถึงจะเห็นธรรม แต่ที่ฝึกมานี่ใช้ได้แล้ว สมาธิของหนูนี่ดีแล้วล่ะ ฝึกมาได้ดีแล้ว ระมัดระวังอันเดียว เวลาจิตมันไม่เข้าฐาน ให้รู้ทันมัน อย่างตอนนี้จิตออกจากฐานแล้วรู้สึกไหม เวลาจิตออกจากฐานไม่ต้องทำอะไร หายใจไปสบายๆ เดี๋ยวมันเข้ามาเอง แต่ถ้าอยากจะให้มันเข้า มันจะแน่นไปหมดเลย ถ้าแน่น แสดงว่าผิดแล้ว แสดงว่าเราไปบังคับมันแล้ว นี่ตรงนี้บังคับแล้ว ไปหัดต่อ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564
Page 15 of 16
1 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16