ปฏิบัติบูชา

การภาวนาไม่ต้องกลัวหรอก ทำไปเถอะ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกวันๆ แล้วก็สังเกตใจของเราไป ที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เราทำด้วยความโลภไหม ถ้าโลภเราก็อยากได้ผลเยอะๆ อยากได้ผลเร็วๆ อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที ฉะนั้นเราก็ปรับใจใหม่ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาอะไร แต่ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไปเท่านั้นเอง เหมือนเราจัดดอกไม้บูชาพระไม่ได้หวังว่าจะต้องได้อะไร ฉะนั้นปฏิบัติไม่คาดหวังว่าจะได้อะไร ทำให้สม่ำเสมอทุกวันๆ

บางทีเห็นสิ่งที่ถูกรู้ไม่ใช่เรา จิตยังไม่เป็นกลาง

ในขั้นของการปฏิบัติ ในขั้นที่เรายังเจริญปัญญาอยู่ เราจำเป็นต้องมีผู้รู้เพื่อตัดชีวิตเราให้ขาดเป็นช่วงๆ ไม่ใช่เป็นผู้หลงอันเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่มันจะเกิดดับๆๆ ตัวรู้ทำให้จิตมันขาดช่วงจากจิตหลง มีจิตรู้ปุ๊บ จิตหลงดับอะไรอย่างนี้ หรือมีจิตรู้ขึ้นมา จิตโกรธก็ดับ จะเห็นจิตขาดช่วงไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็จะเห็นว่าจิตทั้งหมด กระทั่งตัวจิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็นมาถึงตรงนี้ ถึงจะผ่านไปวางจิตได้

จิตเฉยกับโลกมากขึ้น รู้ทันสภาวะอารมณ์มากขึ้น แต่ยังต่อสู้กับกิเลสแรงๆ ไม่ได้

เฉยมีหลายเฉยนะ เฉยเพราะปัญญาก็มี เฉยเพราะติดนิ่งก็มี ให้จิตทำงานเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม แล้วจิตมันเป็นกลาง มันนิ่ง มันเฉย ด้วยความเป็นกลาง ด้วยสติ ด้วยปัญญา อันนี้ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ภาวนาแล้วเราไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ซึมๆ ไป อย่างนั้นไม่ดี ภาวนาแล้วไม่ปรุงแต่งจิต แต่ภาวนาแล้วรู้ทันจิตถึงจะใช้ได้ ไปแต่งจิตให้ซึมแล้วคิดว่าดี ที่แท้เราไปปรุงแต่งจิต เราไม่ได้รู้ทันความปรุงแต่งของจิต เราไปปรุงแต่งจิตเสียเอง 2 อันนี้ไม่เหมือนกันต้องระวัง ฉะนั้นจิตที่ดี คือจิตที่เราไม่ได้ปรุงแต่งมัน แล้วเรารู้จิตนั้นอย่างที่มันเป็นไป การที่เรามีวิหารธรรม จิตสงบของจิตเอง ไม่ใช่เราจงใจแต่งให้สงบ

รู้สึกร่างกายจิตใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคนละส่วนกัน รู้สึกจิตที่ไหลไปคิดทำให้เกิดทุกข์

เวลาเราทำสมาธิแล้วเราดูจิตใจ เราไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ จะซึมๆ เห็นอะไรไหวๆ เรานึกว่าเดินปัญญา ที่จริงจิตไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้นเวลานั่ง นั่งรู้สึก ไม่นั่งแล้วแต่งจิตให้เคลิ้ม ไม่ต้องไปแต่งให้มันเบลอๆ ลงไป ตรงนั้นไม่ดี ตรงนั้นจะทำให้โมหะของเราเยอะขึ้น แล้วเรานึกว่าเราเดินปัญญาอยู่ เห็นโน้นเห็นนี้วอบแวบๆ จิตไม่มีแรงที่จะละกิเลสหรอก ฉะนั้นเรื่องสมาธิเป็นเรื่องใหญ่ เราเรียนรู้เท่าทันจิตใจของเรา สมาธิที่ถูกมันจะเกิด ใช้จิตปกติไปรู้อารมณ์ ใช้จิตที่ปกติที่สุดเลย เราจะไม่ปล่อยจิตให้มันไหลลงไปอย่างนั้น เดี๋ยวมันเคยตัว เคยตัวแล้วต้องนั่งแก้

เอามีดทื่อไปฟันต้นไม้

ที่ดูจิตเดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง ปัญญามันจะเกิด ถ้าเราไม่มีสมาธิพอ เราเจริญปัญญาไป ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเทียบ เหมือนเรามีมีดทื่อๆ อยู่เล่มหนึ่ง เราเอาไปผ่าฟืน ไปตัดต้นไม้ แป๊กๆๆ ไม่เข้าหรอก เราก็ต้องหยุดลับมีดก่อน การลับมีดก็คือการทำสมาธิ พอจิตเรามีสมาธิ มันเหมือนเรามีมีดคมๆ ฟันฉับเดียวขาดเลย ฉะนั้นถ้าเราเดินปัญญารวดไปเลย เหมือนเอามีดทื่อไปฟันต้นไม้ ไม่มีประโยชน์อะไร เหนื่อยเปล่า เดินปัญญาก็ต้องรู้จักพักบ้าง เดินปัญญาอย่างเดียวมันจะฟุ้งซ่าน

เห็นจิตแน่นได้เอง หายเเน่นเอง ไม่ชอบเวลาแน่น เห็นว่าชอบเวลาไม่แน่น

ที่หนูทำนั้นเป็นการเจริญปัญญา ทำได้ดี การเจริญปัญญาถ้าทำรวดไปเลย จิตไม่ได้พัก ถึงจุดหนึ่งจิตจะไม่มีกำลังมันจะฟุ้งซ่าน พอจิตมันเหนื่อยขึ้นมามันจะไปติดอยู่ในว่างๆ สว่างว่างๆ เฉยๆ เพราะจิตมันพักไม่พอ เพราะอย่างนั้นมาทำสมาธิให้มันเป็นเรื่องเป็นราว นั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถึงเวลาเราก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำด้วยความอยาก สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง แต่จิตจะได้พัก จิตได้พักแล้วเราจะเห็นสภาวะทำงานได้ดี

ทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ ระหว่างวันใช้เห็นจิตหลงแล้วตามรู้ ส่วนใหญ่จิตหลงไปคิดทั้งวัน

ทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ ฝึกให้สม่ำเสมอ มันก็จะพัฒนามากขึ้นๆ รู้ทันการทำงานของจิตไปเรื่อยๆ หายใจไปพุทโธไปเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องสังเกตเมื่อไรจิตมันหนีไป มันก็จะลืมหายใจ ลืมพุทโธ เพราะฉะนั้นที่เราหายใจ เราพุทโธ เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิตเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นเครื่องบังคับจิต ถ้าบังคับจิตเดี๋ยวจิตเครียด สมาธิก็ไม่เกิดหรอก สมาธิไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิด

ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน ยังฟุ้งซ่านบ่อย เคยเห็นจิตวิ่งไปดูมือแต่เป็นเหมือนมือคนแก่

เราภาวนา ไม่ได้มุ่งไปสร้างภพสร้างชาติอะไรขึ้นมาอีก ถ้าภาวนาแล้วเราไปสร้างภพ แสดงว่าไปด้วยตัณหาแล้ว ถ้าเราไปด้วยฉันทะ เราพอใจที่จะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราพึงพอใจได้นั่งสมาธิ เดินจงกรม ได้ทำทาน ได้รักษาศีล ได้แยกรูปแยกนาม พระพุทธเจ้าสอนไว้เราทำตามด้วยความพอใจ ได้ปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่เพื่อเอาอะไรทั้งสิ้น ถ้าปฏิบัติเพื่อเอาคือตัณหา ปฏิบัติเพื่อจะลดละ ปล่อยวาง คือตัวฉันทะ ฉะนั้นเราสังเกตใจตัวเราเองไปเรื่อยๆ ภาวนาไป เรียนรู้มันไป

บางวันพอเห็นรูปนามแสดงไตรลักษณ์ได้บ้าง แต่บางวันเหมือนภาวนาไม่เป็น

ถ้าเราจงใจจะให้จิตมีกำลัง แต่เราไปจงใจตั้งอยู่อย่างนี้ กำลังของจิตยังไม่เยอะพอหรอก เพราะว่าจิตใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนเรามีมือถือ ตอนนี้เราบอกเราไม่ได้ใช้งาน แต่มันก็กินแบตเตอรี่ ไปเรื่อยๆ เราก็ชัตดาวน์มันเสีย เพราะฉะนั้นเราไม่ไปปรุงอะไรขึ้นมา นี่ก็เป็นภพๆ หนึ่งที่จิตปรุงขึ้นมา คลายออกมาเป็นจิตธรรมดา จิตธรรมดาจะไม่ค่อยใช้พลังงานเท่าไร จิตจะค่อยๆ สะสมพลัง พลังงานมันจะเยอะขึ้นๆ แล้วมันจะตั้งมั่นเด่นดวงโดยที่เราไม่ได้เจตนาทำขึ้นมา

ไม่ชอบสภาวะที่เกิด ปัญหาคือใจก็ยังวางไม่ได้ ใจยังคงเข้าไปคลุกกับอารมณ์อยู่

ปฏิบัติต่อไป การวางเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราสั่งให้จิตวางอะไรไม่ได้หรอก แต่ถ้าปัญญามันเกิด จิตมันวางของมันเอง อย่างมันเห็นความจริงว่าร่างกายเป็นทุกข์ จิตมันวางของมันเอง ฉะนั้นเราสั่งให้วางไม่ได้ ตัวที่ทำหน้าที่ละ หน้าที่วางคือตัวปัญญา เราก็สะสมของเราไป การภาวนามันเหมือนการเรียนหนังสือ กว่าเราจะได้ปริญญาตรีเราเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม นานเป็นสิบๆ ปีเลย กว่าจะได้ปริญญาสักใบหนึ่ง กว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน ภาวนากันนาน กว่าจะได้ สะสมกันหลายภพหลายชาติ ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ เมื่อไรเราจะแยกขันธ์ได้ พอเราเห็นพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนขันธ์มันแยกได้แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจแล้วเมื่อไรจะบรรลุมรรคผล มันบรรลุเอง แยกขันธ์แล้วเห็นขันธ์ทำงานไป แล้วถึงวันหนึ่งมันก็บรรลุมรรคผลของมันเอง อย่าใจร้อน ใจร้อนไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ นอกจากมาบั่นทอนจิตใจของเราเองให้หมดกำลังใจ

Page 9 of 14
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14