ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติ ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

คำถาม:

หลวงพ่อเคยแก้จิตติดเพ่งให้ แนะนำให้ดูอิริยาบถ และสอนต่อว่าดูกายแล้วจะเห็นจิตเอง ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติมาก เห็นการขยับของกาย เพื่อบรรเทาทุกข์ของตัวมันเอง และทำงานของมันเอง ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ในชีวิตประจำวันเห็นจิตปรุงดีปรุงชั่วได้มากขึ้น เห็นสายเกิดแต่สายดับเห็นไม่ค่อยทัน ในรูปแบบเคยเห็นและพอเข้าใจแล้วว่า จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:
เมื่อกี้แนะไปแล้วไปทำอีก ทำถูกแล้ว สมาธิดีแล้ว ที่เพ่งๆ อะไรไม่ได้เพ่งอย่างแต่ก่อนแล้ว พอสมาธิเราดีดูลงในกายเลย จะเห็นกายกับจิตแยกกันได้ชัดเจนแล้ว ส่วนเรารู้สึกอยู่ร่างกายเคลื่อนไหว จิตรู้สึกอะไรอย่างนี้ เวลามีความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิต ก็จะเห็นเอง มันจะเห็นขึ้นมาเอง แต่แรกๆ ก็ต้องอารมณ์ที่หยาบหน่อย ความรู้สึกที่แรงหน่อย พอเราชำนิชำนาญขึ้น แค่จิตมันไหวตัวนิดหนึ่งเราก็เห็นแล้ว ยังไม่ทันจะสุข จะทุกข์อะไรเลย แค่มันสะเทือนไหวขึ้นมาก็เห็นแล้ว ที่ทำอยู่ถูกแล้วไปทำต่อไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

คำถาม:

ปฏิบัติโดยใช้วิภัชวิธีตามที่หลวงพ่อสอน แต่จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

สมาธิเรายังไม่มี เรายังเจริญปัญญาไมได้จริงหรอก การที่บอกวิภัชวิธี มันเป็นการคิดแยกเอา มันยังไม่ได้เห็นว่ามันแยกกัน ก็เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นเสียก่อน จิตเราฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอะไรก็เอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำบ่อยๆ พอทำไป พอจิตมันมีกำลังมันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจมันก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้การหายใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในร่างกายเกิดขึ้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว กุศล อกุศล ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันจะค่อยๆ แยก มันแยกด้วยการเห็น เพราะจิตมันเป็นคนเห็นแล้วมันจะเห็นขันธ์มันแยกออกไป มันแยกเอง ของโยมใจมันยังฟุ้งเยอะอยู่ ฉะนั้นเพิ่มกำลังของสมาธิก่อน ถ้าสมาธิไม่พอ ใจเราฟุ้งๆ มันเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นทำสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แล้วค่อยมาส่งการบ้านต่อ ตอนนี้เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ฝึกมา 3 ปีในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบคือนั่งสมาธิ เดินจงกรมเช้า – เย็น เวลานั่งสมาธิก็จะดูลมหายใจแล้วนับเลข พอถึงจำนวนครั้งที่กำหนด ก็จะเปลี่ยนเป็นพิจารณาเล็บ เวลาเดินจงกรมก็นับรอบที่เดิน สลับกับพิจารณาเล็บเช่นกัน จะมีบ่อยๆ ที่เผลอไปคิดเรื่องอื่นแต่สั้นๆ พอหยุดคิดก็ดูใจ การนับลมหายใจหรือการพิจารณาเล็บยังทำอยู่ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดไปตอนที่เผลอคิด ทำแบบนี้มา 3 ปี ในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไปคะ

 

หลวงพ่อ:

ปฏิบัติอย่างนี้ล่ะ ที่ทำอยู่นี้ก็ก้าวหน้าแล้ว มันก็มีพัฒนาการ เราอย่าใจร้อน ถ้าเราภาวนาแล้วอยากได้ผลเร็วๆ ใจมันจะฟุ้งซ่าน ต้องตั้งใจไว้เลยเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า จะได้ผลหรือจะไม่ได้ผลก็เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา รู้ซื่อๆ ไป ใช้ได้นะที่ฝึก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบเกือบทุกวันด้วยการเดินจงกรม และดูลมหายใจได้ 20 – 30 นาทีต่อวัน ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่ ขอหลวงพ่อแนะนำแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ดูไปเลย ใจเราไม่ค่อยมีความสุข โทสะมันแทรกเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นใจมันจะหงุดหงิดๆๆ ไปเรื่อยๆ ให้เรารู้ทันไป ใจมันหงุดหงิดขึ้นมาเรารู้ ใจมันสงบขึ้นมาเรารู้ เห็นกิเลสนั่นล่ะดีที่สุด การภาวนาถ้าเราไม่เห็นอย่างอื่น เห็นกิเลสที่มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ในใจเรา ดีที่สุดแล้ว เพราะศัตรูของเราจริงๆ ก็คือกิเลส เวลาจะแตกหักลงไป ก็คือแตกหักกับกิเลส ทำลายกิเลสคือตัวอวิชชา ตัวโมหะ ตอนนี้โมหะเรายังเยอะอยู่ ใจมันยังฟุ้ง ใจมันยังหลง แล้วก็ประกอบด้วยโทสะเก่ง หงุดหงิดง่ายอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้เอาๆ เราจะเห็นว่ากิเลสแต่ละตัวมันมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ห้ามมันก็ไม่ได้ ควบคุมมันก็ไม่ได้ อย่างใจจะหลงห้ามไม่ได้ แต่อย่าหลงนานเท่านั้น ใจมันหลงแล้วก็รู้ ใจมันหลงแล้วรู้ไวๆ เท่านั้น หรือใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ ใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ รู้บ่อยๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ได้ศีลเราก็จะดี สมาธิก็จะดี ปัญญามันก็จะเกิด คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ รู้ทันกิเลส รู้บ่อยๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยนั่งรู้สึกร่างกายหายใจเข้าออกทุกเช้า – เย็นรอบละ 1 ชั่วโมง มีสติมากขึ้น หลงแล้วรู้ เห็นกาย จิต เวทนาอยู่คนละส่วนกัน เห็นร่างกายพยายามขยับหนีเวทนาบ่อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ใช้การรู้สึกตัว และตามดูร่างกายหรือจิต เพ่งน้อยลง ใจเป็นธรรมดามากขึ้น เห็นอนิจจังและอนัตตาได้เนืองๆ เห็นกิเลสบ้าง ช่วงนี้เห็นราคะมากขึ้น จากเดิมที่เห็นโทสะ บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:

ที่เล่ามาก็ใช้ได้แล้ว แต่เราสังเกตให้ดีเวลาเราภาวนา บางทีเหมือนเดินปัญญาอยู่ แต่จิตมันไม่ถึงฐานทีเดียวหรอก จิตมันยังอยู่ข้างนอกๆ อยู่ ฉะนั้นเราทำความสงบเข้ามา หายใจไม่ดึงจิต หายใจเฉยๆ ลองถอยออกมาซิ ตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกันรู้สึกไหม เมื่อกี้ใจมันออกข้างนอก มันกว้างๆ มันไม่ถึงฐานหรอก มันดูไม่ถึงจิตหรอก จิตมันต้องตั้งมั่นอย่างนี้ มันดูเข้ามาถึงจิตถึงใจจริงๆ มันถึงจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นอย่างนั้นมันก็เหมือนดูหนังเฉยๆ ใจมันจะเฉยๆ มันไม่ได้ซาบซึ้งในความทุกข์ ถ้าจิตตั้งมั่นจริงๆ มันจะเห็นทุกข์ เห็นทุกข์มันก็เห็นธรรม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น ต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อนหลวงพ่อเตือนว่า ให้ระวังเรื่องรู้ร่างกายแล้วใจถลำลงไป ตอนนี้กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น เพราะต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้ นานๆ ครั้งถึงจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันโปร่งๆ มีความรู้สึกเฉพาะตรงจุดที่ร่างกายสัมผัสกับลมหายใจ ฝึกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ:

ฝึกอย่างนี้นานๆ ไป เราก็จะได้สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำสมถะ อย่างทีแรกเรารู้ลงไปในร่างกายทีละส่วนๆ เราก็รู้อยู่ทั้งตัว พอรู้ทั้งตัว เราหายใจไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะมารวมอยู่ที่ปลายจมูกนี้ มันรวมอยู่ที่นี่ ดูต่อไปมันจะสว่างว่างขึ้นมา จิตก็ได้เข้าฌาน ได้อะไรไป พอจิตเราเข้าสมาธิพอสมควรแล้ว ให้ออกมาดูร่างกายไว้ ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษอย่างนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่างนี้เราก็จะต่อไปได้ เข้าสู่การเจริญปัญญาได้ ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายมีแต่ของไม่ดี ของไม่สวย ของไม่งามเต็มไปด้วยของสกปรกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากสมาธิก็จะเริ่มค่อยๆ ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา

เราก็เห็นร่างกายสกปรกไม่ดี ไม่งาม ใจเราไม่ชอบ เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบ เราก็ดูกายต่อไป ต่อไปมันก็พัฒนา แทนที่จะเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เราเห็นว่าจริงๆ มันเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีของสกปรก ไม่มีของสะอาดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นจะทำสมาธิก่อนแล้วก็เดินไปในแนวนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าสมาธิไม่พอก็ไปดูจิตเอา ก็เห็นเดี๋ยวจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวในทางสายของสมาธิก็ดูลงมาในกายนี้เลย จนเห็นไม่มีตัวเราหรอก แต่ของคุณต้องเริ่มแต่ไม่สวยไม่งามก่อน มันไม่สวย มันไม่งามอะไรอย่างนี้ ใจมันจะมีแรงมากขึ้น แล้วค่อยดู โอ้ มันไม่สวยไม่งาม ทีแรกใจมันรังเกียจ รู้ทันใจที่รังเกียจ ต่อไปใจมันจะเป็นกลาง มันเห็นว่าร่างกายจริงๆ เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย

อย่างดินนี่ไม่มีคำว่าสวย ไม่สวย น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่มีสวย ไม่สวย มันก็เป็นแค่ธาตุ แล้วถ้าจิตมันพลิกไปเห็นจิตใจทำงาน เราก็รู้ทันจิตใจที่ทำงานไป ถึงเวลาเราก็กลับมาทำสมาธิไป เดินอย่างนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำเอา ถ้าเดินโดยมีสมาธิประกอบ การภาวนามันจะมีความสุข มันจะมีความสดชื่นเป็นระยะๆ

การปฏิบัติมันเหมือนการเดินทางไกล เดินป่าเดินเขาอะไรอย่างนี้ ถ้าเราเข้าฌาน เข้าสมาธิได้ มันก็คล้ายๆ พอตกค่ำ เราก็มีน้ำให้อาบ มีฟูกให้นอน มีห้องแอร์ให้อยู่อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิใช่ไหม เดินไป ภาวนาไป เหน็ดเหนื่อยลำบาก ตกค่ำก็ซุกหัวนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไปแบบลำบากแห้งแล้ง บางคนมันก็ต้องไปแบบนั้นยอมทนเอา คนไหนทำฌานได้ ทำสมาธิได้ก็คล้ายๆ มีที่พักที่สบาย การปฏิบัติ ไม่แห้งแล้ง สบาย แต่คนส่วนใหญ่ต้องไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะเข้าฌานไม่เป็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

พอจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด จะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ

ฝึกปฏิบัติโดยใช้หลักวิหารธรรมลมหายใจเข้า พุทออกโธครับ เคยส่งการบ้านเมื่อต้นปี 2562 พ่อแม่ครูอาจารย์ให้กลับมาทำสมาธิเพิ่มขึ้นอีก กระผมได้กลับมาปฏิบัติถึงปัจจุบันครับ พอนั่งจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด กระผมจะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ ขอคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนาถูกแล้ว พอจิตเรามีกำลัง เราก็เอาจิตที่มีกำลังแล้ว มีสมาธิแล้วไปเดินปัญญา ระลึกลงในร่างกาย ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง คอยดูไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ดูแบบพรวดพราด ดูหัวทีเดียวถึงเท้าอะไรอย่างนี้ เร็วไป ค่อยๆ สังเกตไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ นี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ส่วนจิตใจมันจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร มันจะเห็นเอง

สมาธิดี ทำต่อ สมาธิไม่ทิ้ง เดินไปด้วยการใช้สมาธิอย่างนี้ การปฏิบัติเราจะไม่แห้งแล้ง มันจะปฏิบัติไป มีความสุข มีความสงบไปตลอดสายของการปฏิบัติ มีจิตที่ทรงสมาธิอยู่ นี้พอจิตเราสงบตั้งมั่น ดีแล้ว พักผ่อนพอสมควรแล้ว ไม่เกียจคร้าน ออกมาดูร่างกายนี้ ทำไมหลวงพ่อไม่บอกไปดูจิต ถ้าจิตสงบแล้วมันไม่ค่อยมีอะไรให้ดู มันว่างๆ นิ่งๆ ไป ออกมาดูกาย แต่ถ้าจิตมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร เราเห็น เราก็ดูจิตไปเลย แต่ถ้าจิตมันเฉยๆ มาดูที่กาย ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คอยดูไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ภาวนาเก่ง ภาวนาได้ดีเชียวล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

ตอนนี้เห็นกิเลสตัวเล็กๆ บางตัวก็ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี และเห็นจิตที่ถูกบีบคั้นอยู่บ่อยๆ

2 ปีก่อน หลวงพ่อบอกดิฉันว่าจิตฟุ้งซ่าน ให้บริกรรมช่วย ตอนนี้ดิฉันเห็นกิเลสตัวเล็กๆ มากขึ้นมาก บางตัวก็ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี เห็นจิตที่ถูกบีบคั้นอยู่บ่อยๆ ขอการบ้านหลวงพ่อต่อค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ทำต่อไป ทำแล้วเราเห็นกิเลสเรา เรามีพัฒนาการแล้ว ต่อไปเราก็จะสังเกตเวลากิเลสเกิด จิตบางทีก็มีโทสะแทรก เราไม่ชอบกิเลสอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทัน นึกออกไหม บางทีเห็นกิเลสแล้วไม่ชอบมัน มันไม่เป็นกลาง ให้รู้ทันไปว่าตอนนี้ไม่ชอบแล้ว ตอนนี้ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่ดีที่หลวงพ่อบอกว่ามันสงบ มันตั้งมั่น มันเป็นกลาง จุดสำคัญต้องเป็นกลางด้วย ตั้งมั่นอย่างเดียวแต่ไม่เป็นกลาง ยังไม่ดีพอ

ฉะนั้นอย่างเราตั้งมั่น เราก็จะเริ่มเห็นสภาวะ อย่างเห็นกิเลสเยอะแยะเลย แต่ใจมันไม่ชอบ ใจมันไม่เป็นกลาง ให้รู้ตรงที่ใจไม่เป็นกลาง พอใจเป็นกลาง เราจะเดินปัญญาต่อได้ง่ายๆ เลย กิเลสจะมาหรือกิเลสจะไป เราไม่เกลียด เราไม่ดีใจ เราไม่เสียใจ เราก็เห็นแค่ว่าสภาวะบางอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราไม่หลงดีใจ เราไม่หลงเสียใจกับมัน ค่อยๆ ดูจนมันเป็นกลาง แต่ความเป็นกลางอย่าไปแต่งขึ้นมา อย่าไปทำมันขึ้นมา ให้รู้ตรงที่มันชอบ ตรงที่มันไม่ชอบแล้วมันเป็นกลางของมันเอง ตรงที่เราไปจงใจให้เป็นกลาง อันนั้นกลางปลอม ใช้ไม่ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

การภาวนาในรูปแบบ ใช้การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่มักไม่สงบตั้งมั่น

ส่งการบ้านครั้งแรก ปฏิบัติมา 2 ปีครึ่ง ในชีวิตประจำวันใช้การบริกรรมพุทโธ สลับกับ ดูร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกตัวทุกวัน แต่ไม่ต่อเนื่องทั้งวัน ต้องคอยเตือนตัวเองให้รู้สึกตัวเป็นระยะๆ ในรูปแบบ ใช้การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่มักไม่สงบตั้งมั่น กราบขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะข้อผิดพลาดและวิธีปฏิบัติต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เราภาวนาไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ไม่สำคัญหรอก ให้ได้ลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวความสงบก็เป็นของแถมมาเอง ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดี แต่ขณะนี้จิตออกนอกนิดหน่อย รู้สึกไหม มาตั้งใจฟังหลวงพ่อ จิตมันออกไปข้างนอก ลองหายใจสิ อย่าไปยุ่งกับจิต หายใจเฉยๆ อย่าไปมองมัน หายใจเฉยๆ รู้สึกไหม จิตมันกลับเข้ามาแล้ว นี่เราคอยรู้อย่างนี้ จิตเราตั้งมั่นอยู่ เรารู้ แล้วมันออกนี่ เราจะรู้ ใช้ได้ อย่างนี้ดี แต่อย่าให้มันลอยๆ ว่างๆ อยู่ข้างนอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

พูดผิด จำไม่ค่อยได้เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจ

ภาวนาดูกายเคลื่อนไหว ชัดบ้าง หลงบ้าง เวลาใช้พุทโธ ไม่ถึง 6 ครั้ง ก็รู้สึกมีอะไรบางอย่าง พุทโธหาย บางทีหลงไปคิด รู้สึกตัวก็กลับมาพุทโธ ปัญหาคือเมื่อต้องพูดคุยที่จะเอ่ยชื่อบุคคล สถานที่ ก็จะพูดผิด เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจค่ะ

 

หลวงพ่อ:

อันนั้นเพราะจิตเราไม่สนใจ จิตเราไม่ได้สนใจ มันก็ไม่จำไว้ นี้ถ้ามีหน้าที่ต้องจำ เราก็พยายามจำ แต่มันมีอีกอย่างหนึ่ง คือความชราของสมอง ความแก่ของเรา บางทีมันก็นึกไม่ออก มันเป็นเรื่องธรรมดา บางทีก็นึกออก บางทีก็นึกไม่ออก เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าเราภาวนาแล้ว โน่นก็ไม่จำ นี่ก็ไม่จำ อันนั้นจิตมันติดสมาธิ ติดความสุข ความสงบเฉยๆ ฉะนั้นถ้าเรามีหน้าที่ต้องจำ เราก็ใช้สติให้แรงขึ้นตรงนั้น สมมติเราจะวางถ้วยอย่างนี้ ทำความรู้สึกวาง เราจะไม่ลืมแล้ว แต่ถ้าเราดูแต่จิต วางไปอย่างนี้ แล้วไปวางไว้ไหนก็ไม่รู้ นึกออกไหม ฉะนั้นเวลาจะอยู่กับโลก เพิ่มสติ หมายถึงสติที่อยู่กับโลก จะขยับเขยื้อนจะทำอะไร คอยรู้สึก เอาของไปวางตรงนี้ รู้สึกอะไรนี้ ไม่ใช่ดูแต่จิต ดูแต่จิตเดี๋ยวลืมโลกไปหมดเลย ที่ภาวนาใช้ได้ๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 10 of 13
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13