จิตไม่ใช่เรา

จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6 เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย

กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้

เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา

ภาวนาเรื่อยๆ ตามสังเกตของจริงไป จะรู้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย จะอายตนะภายนอก เกิดแล้วก็ดับ อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ จิตวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา แล้วมันละเด็ดขาด ละแล้วไม่เกิดอีก ละทีเดียวแล้วเลิกกันไปเลย ถ้ายังไม่เห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละด้วยสติ ด้วยสมาธิได้ชั่วคราว แต่เจริญปัญญาจะละได้เด็ดขาด พระพุทธเจ้าถึงสอน “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

วิธีดับเหตุของทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ทำเหตุดี มีผลดี ทำเหตุชั่วก็มีผลชั่ว ผลชั่วก็เป็นผลของความทุกข์ เวลาเราจะแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ เราเลยไม่ได้ไปแก้ที่ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์ แก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นถึงจะดับ ไปแก้ตัวผลไม่ได้

Page 2 of 2
1 2