วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที

ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกันนั่นล่ะ เรียกชื่อแตกต่างกันไป มีภพครั้งใด พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง