สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

เวลาภาวนาอย่าใจร้อน

ภาวนา ค่อยๆ เข้าใจไป ทำให้ถูก ไม่ใช่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ มันจะไม่ได้อะไร ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตคือภพ มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป เราก็เอาแต่ปรุงแต่ง อยากดีๆ อยากดีจิตก็เลยสร้างภพของคนดี เป็นคนดี เป็นนักปฏิบัติที่ดีอะไรอย่างนี้ มันจอมปลอมทั้งหมดล่ะ ให้รู้ทันเลย ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้

ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์