กถาวัตถุ ๑๐

มีคำถาม พวกเราลองตอบแทนหลวงพ่อดู
ข้อที่หนึ่ง “มีธรรมะอันไหนที่เมื่อเราทำมากๆ แล้วจะทำให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม”
ข้อที่สอง “มีธรรมะอะไรที่ทำมากๆ แล้ว จะเสื่อมทั้งทางโลกและทางธรรม”
ข้อที่สาม “มีธรรมะอะไรที่ทำมากๆ แล้ว ทางโลกจะเสื่อมแต่ทางธรรมเจริญ”
แล้วข้อสุดท้าย “มีธรรมะอะไรที่ทำแล้ว ทางโลกเจริญแต่ธรรมะเสื่อม”
ถ้าจะตอบนี่ยาวหลายชั่วโมง เอาย่อๆ ก็แล้วกัน

รักษาใจยามเจ็บไข้

สำหรับคนที่เจ็บป่วย ทำใจไว้อย่างหนึ่งว่าความเจ็บป่วยก็เป็นของชั่วคราว มันไม่มีใครหรอกเจ็บตลอดชาติ เจ็บตลอดเวลา ความเจ็บปวดมันก็อยู่ชั่วคราว มันมาแล้ว เดี๋ยวมันก็ไป เพียงแต่บางคน ถ้าร่างกายอ่อนแอมาก ความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ มันไปพร้อมกับชีวิตเรา ยังไงเราก็ไม่แพ้มัน อย่างมากก็เสมอกัน

ไม่มีที่มันชนะเราหรอก อย่างมากก็เสมอกัน ถ้าอย่างเราเป็นมะเร็ง เราตาย เซลล์มะเร็งตายด้วย มันอยู่ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นบอกกับมันดี ๆ ว่า “เอ็งน่ะ อย่าอาละวาดมากนัก” แผ่เมตตาให้มันบ้าง พอเราแผ่เมตตา ใจไม่เกลียดมัน ใจจะสบาย พอใจสบาย สมาธิเกิดขึ้นมา ใจมันร่มเย็นเป็นสุข มีความสุข มีกำลัง มีกำลังใจ เราไม่ต้องคิดอะไรมาก เวลาเราผ่านการรักษาที่ยาวนาน บางคนบอก “โอ้โห อาจารย์จะต้องให้คีโม ๖ ครั้ง ๘ ครั้ง อะไรเนี่ย ฟังแล้วท้อแท้ใจ” อยู่เป็นวัน ๆ ไป มีชีวิตเป็นขณะ ๆ เป็นวัน ๆ ไป วันนี้ให้ทำอะไรก็ทำไป อย่าไปคิดว่าเหลืออีกกี่วัน เหลือต้องให้ยาอีกกี่รอบ คิดมากก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไปทีละวัน ๆ แป๊บเดียวเอง

ศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ

เราต้องรู้หลัก ว่าหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เราจะได้ปฏิบัติได้ถูก แล้วถัดจากนั้นเราก็ลงมือปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว เราจะเห็นผลของการปฏิบัติเป็นลำดับๆ ไป เราจะพบว่า ความทุกข์ในใจเราน้ีสั้นลงๆ เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้น เคยทุกข์หนัก ก็ทุกข์น้อย ถ้าฝึกถึงขีดสุดนี่ ไม่ทุกข์อีกต่อไป

เป็นศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ เป็นความอหังการ กล้าหาญมาก ท้าให้พิสูจน์ เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ไม่ใช่จงเชื่อเถิด ลองดูวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้ ลงมือทำแล้ว ดูผลด้วยตัวเอง ว่าทุกข์มันน้อยลงไหม ทุกข์มันสั้นลงไหม ถ้าเราพบว่าความทุกข์มันน้อยลงๆ ความทุกข์มันสั้นลงๆ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าก็จะเกิดขึ้น ทุกวันนี้เราเป็นชาวพุทธแต่ชื่อ เราไม่ได้รู้คุณค่าของพุทธศาสนาเลยว่าจะช่วยอะไรเราได้

เรื่องธรรมดา

การปฏิบัติธรรม เราต้องมาเรียนว่าธรรมดาของกายเป็นอย่างไร ธรรมดาของใจเป็นอย่างไร มาเรียนตัวนี้จนเห็นความเป็นจริงของมันแล้ว ธรรมดาเป็นอย่างนี้แหละ ธรรมดามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญามันก็เกิดขึ้นมา ว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก
ถ้าปัญญาขั้นสูงขึ้นไป
เห็นเลยตัวนี้กายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์
ถ้าเห็นถึงกายถึงใจว่าเป็นตัวทุกข์ก็ล้างอวิชชาได้

ธรรมะโดนใจ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผู้มีอัจฉริยภาพในการสอนให้โดนใจคนฟัง มีคนจำนวนไม่น้อยชีวิตเปลี่ยนจากการฟังธรรมที่ท่านแสดงเพียงไม่กี่ครั้ง

ลูกศิษย์ผู้เห็นประโยชน์จึงรวบรวมธรรมะโดนใจในหลายๆ วาระ จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นจิตผู้อ่านให้เดินอยู่ในร่องในรอยตามทางที่พระศาสดาและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านเดินไปแล้วด้วยดี

จิตใจโดนกระตุ้นแล้ว ต้องลงมือภาวนาเองด้วย ชีวิตจึงจะเปลี่ยนอย่างแท้จริง

ธรรมเทศนา ๔ วันในสวนสันติธรรม

ถ้าเราเฉลียวใจสักนิดหนึ่งว่า ถ้าภาวนาหลายปีแล้วก็เหมือนเดิม คือสงบแล้วฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วสงบ ต้องมีอะไรผิดพลาด เพราะถ้าไม่ผิดพลาด ภาวนาถูกต้อง มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสัมมาสมาธิ เราจะต้องเห็นผลอย่างรวดเร็ว เพราะสติปัฏฐานนี่ให้ผลเร็ว ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ให้ผลจริงๆ

เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง

ถ้าพิจารณาให้ดี อารมณ์ทั้งหลายในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาให้เราเรียนรู้นั้น เป็นอารมณ์ที่เป็นคู่ทั้งสิ้น เช่น “หายใจออกกับหายใจเข้า” เห็นไหมว่าเป็นคู่ ๆ “ยืน เดิน นั่ง นอน” นี่ก็เป็นคู่ คำว่า “คู่” ไม่ได้แปลว่าสองนะ แต่หมายถึงสิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นเทียบเคียงได้ ไม่ใช่มีอันเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน นี่มีสี่อย่าง เทียบได้ว่าแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นธรรมคู่ หรือเวทนา มี “สุข ทุกข์ เฉย ๆ” มีสามอย่างก็ถือว่าเป็นธรรมคู่ หรือ “จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ” นี่หนึ่งคู่ “จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ” นี่หนึ่งคู่ “จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ” นี่อีกคู่หนึ่ง “จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่” นี่อีกคู่หนึ่ง

ทำไมต้องเรียนธรรมคู่ หรือเรียนสภาวะเป็นคู่ ๆ เราเรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่ เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละสิ่ง ๆ นั้นไม่เที่ยง แต่ละสิ่ง ๆ ทนอยู่ไม่ได้นาน แต่ละสิ่ง ๆ บังคับไม่ได้ มันพลิกกลับไปกลับมาระหว่างด้านตรงข้ามเสมอ ๆ เรียนเพื่อให้เห็นตรงนี้

ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค

เวลาที่มรรคผลจะเกิด ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพร้อม
ฉะนั้นเราต้องทำให้พร้อมนะ
ท่านบอก กุศลทำให้ถึงพร้อม ไม่ใช่เจริญปัญญอย่างเดียวแล้วจะบรรลุได้
ศีลก็ต้องรักษา สมาธิก็ต้องทำ
ฉะนั้น ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาไม่พร้อม
อริยมรรคก็ไม่เกิด
ต้องทำเหตุกับผลให้ตรงกัน
อยากได้ผลอย่างนี้ ก็ต้องทำเหตุอย่างนี้

จิตตสิกขาและอริยสัจ: ความจริงที่ต้องเรียน กิจที่ต้องทำ

อริยสัจ คือความจริง ๔ อย่างที่ต้องเรียน คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และมีกิจ ๔ อย่างที่ต้องทำ
กิจต่อทุกข์ คือการรู้
กิจต่อสมุทัย คือการละ
กิจต่อนิโรธ คือทำให้แจ้ง
กิจต่อมรรค คือการทำให้เจริญ

ฉะนั้น หน้าที่เจริญสติ เจริญมรรคนี่แหละ ทำให้มากๆ ต่อไปสติปัญญามันจะพัฒนา เบื้องต้นมันก็จะเห็นว่าตัวเราไม่มี กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา มีแต่ขันธ์ ไม่มีเจ้าของ เห็นอย่างนี้ได้เป็นพระโสดาบัน ภูมิธรรมภูมิปัญญาของพระโสดาบันกับพระสกทาคามีเป็นภูมิปัญญาระดับนี้

Page 1 of 2
1 2