เดินจิตในทางสายกลาง

กิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เราต้องไม่ตึงไปแล้วก็ไม่หย่อนไป หย่อนไปคือตามใจกิเลส ตึงไปก็คือพยายามละกิเลส กิเลสนั้นไม่ต้องละ กิเลสอยู่ในสังขารขันธ์อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ไม่ใช่การละ ฉะนั้นจิตมีราคะขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนว่าจิตมีราคะให้ละเสีย ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าให้ละเสียตึงไป เครียด แต่ท่านให้รู้ แล้วก็ไม่ได้ให้ตามใจ ถ้าตามใจก็คือหย่อนไป ถ้าพยายามไปดับกิเลส ไปละกิเลส อันนี้ตึงไป ถ้ากิเลสเกิดรู้ว่ากิเลสเกิด เห็นว่ากิเลสกับจิตมันก็คนละอันกัน เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป กิเลสเองก็เกิดดับๆ ได้ นี่ทางสายกลาง ตรงที่เราเห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันดับปั๊บไป จิตมีสมาธิ แล้วเราก็เห็นไปเนืองๆ เห็นบ่อยๆ กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะรู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดได้มันก็ดับได้ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันดับของมันเอง เมื่อเหตุของมันหมดมันก็ดับ กิเลสมันเป็นอนัตตา ละมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดท่านถึงไม่ได้บอกให้ละ แต่ท่านให้เห็น ให้รู้มัน ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ โทสะเกิดรู้ว่ามีโทสะ โมหะเกิดรู้ว่ามีโมหะ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามละ ตึงไป ถ้าตามใจมัน นี่หย่อนไป ถ้าตามใจมันก็จะไปอบาย ถ้าไปต้านมัน ไปต่อต้านมันก็ไม่ทำชั่วอะไร ไปสุคติได้ แต่ไม่ได้ไปมรรคผลนิพพาน ไม่ถึง ไม่เกิดมรรคผล เพราะไม่ใช่ทางสายกลาง

ทางสายกลาง

พอคิดถึงการปฏิบัติก็บังคับกายบังคับใจ ก็ผิดอยู่ 2 ด้าน หย่อนไปกับตึงไป มันเลยไม่เข้าทางสายกลางเสียที ทางสายกลางคือมรรคมีองค์ 8 ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป มรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถือศีลหย่อนเกินไปก็ใช้ไม่ได้ ถือศีลแล้วก็ตึงเกินไปก็ใช้ไม่ได้ สมาธิหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ เจริญปัญญาหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ ต้องทางสายกลางจริงๆ