การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย

เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

เราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

ปฏิบัติบูชา

การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ ก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

ทำในรูปแบบด้วยการนั่งสมาธิ ทำไปสักพักลมหายไป รู้สึกเหมือนหายใจด้วยหน้าอก และเริ่มเห็นจิตคิดเรื่องต่างๆ สลับไปมา และความคิดก็น้อยลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็เห็นเพียงแต่การหายใจด้วยหน้าอก และนิ่งๆ อยู่แบบนั้น

คำถาม: ใช้การดูลม สลับกับดูอิริยาบถในระหว่างวัน ทำในรูป …

Read more

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ

ความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้ มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา

Page 1 of 3
1 2 3