จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

วัฏฏะไม่มีความแน่นอน

เวลาที่เราเดินทางไกลในสังสารวัฏเราก็มีพ่อ มีแม่ มีสามี มีภรรยา มีลูก มีหลาน แต่ละภพแต่ละชาติก็มีเยอะแยะไปหมด ชาตินี้คนนี้มาเป็นสามี ชาติหน้าคนอื่นก็มาเป็นอะไรอย่างนี้ วัฏฏะไม่มีความแน่นอน หรือมาเป็นพ่อแม่เป็นลูกหลานกัน วัฏฏะที่ยาวนานนั้น พระพุทธเจ้าท่านถึงขนาดบอกว่า คนในโลกที่มาเจอกัน ที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกัน ไม่เคยเป็นลูกเป็นอะไรอย่างนี้ หาแทบไม่ได้เลย สังสารวัฏไม่ได้มีอะไรน่าชื่นใจเลย แล้วก็ไม่มีอะไรยั่งยืนมั่นคงเลย มันเป็นอย่างนี้มาตลอด ถ้าเราเข้าใจเราก็ไม่ยึดถือมันมาก

ไม่เผลอ – ไม่เพ่ง

หลวงพ่อสอนมาตลอดตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์ บอกไม่เผลอกับไม่เพ่ง ฟังแล้วดูตลก กรรมฐานอะไรบอกไม่เผลอกับไม่เพ่ง ที่จริงมันคือการปรับพื้นฐานของสมาธินั่นเอง สมาธิไม่มี ใจฟุ้งซ่าน เผลอไป สมาธิไม่ถูกต้อง เพ่งเอาไว้เคร่งเครียด ตรงที่ใจฟุ้งซ่านนั้นเราไม่สามารถรู้กายรู้ใจได้ ตรงที่เราเพ่งไว้เคร่งเครียด เรารู้กาย เรารู้ใจได้ แต่เราไม่สามารถจะเห็นความจริงของกายของใจได้