อนุปุพพิกถา

กามคุณทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ที่ว่าเราอุตส่าห์ทำบุญทำทาน เราขึ้นสวรรค์มาเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ถึงวันหนึ่งเทวดาก็ตกสวรรค์ หรือเราเป็นคนดีแท้ๆ เลย บางทีอกุศลให้ผลมา เราก็เจอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ฉะนั้นท่านยังสอนว่ามันมีโทษ สอนให้รู้จักปลีกตัวออกจากสวรรค์บ้าง สวรรค์ก็คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็สอนบอกสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ให้มาพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไป สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 นี่หลักธรรมที่ท่านสอน จะมาสู่จุดนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา คนแรกที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาคือ

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

ติดชั่วก็ทุกข์ ติดดีก็ทุกข์

ท่านพุทธทาสท่านเคยสอน ท่านบอกชั่วกับดีอัปรีย์พอกัน อัปรีย์หมายถึงไม่น่ารัก ติดในความชั่วอันนี้เลวสุด ติดในความดีก็ทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะไม่ทำชั่ว เราทำความดีแต่ไม่ติด จิตมันชั่ว มีสติรู้ทันแล้วก็อย่าทำ จิตมันปรุงดีขึ้นมา มีสติรู้ทัน เราก็ทำ แต่ว่าอย่าไปติดมัน พวกติดดีก็น่าสงสาร แต่พวกติดดีก็ดีกว่าติดชั่ว แต่ไม่ติดอะไรเลยดีที่สุด