กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

แสวงหาธรรมะ

ตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งเห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก

ความจริงของสภาวธรรม

อันแรกเราเห็นตัวสภาวะ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่เกิดขึ้น ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น นี้เป็นสภาวธรรม แต่พอเราดูไปชำนิชำนาญ เราจะเห็นว่าสภาวธรรมทุกตัวเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ความสุขที่พวกเรามีอยู่ เห็นไหมในชีวิตเราความสุขผ่านมาตั้งเยอะแยะ แล้วดับทั้งสิ้น ความทุกข์ในชีวิตของเรามากมาย แต่ความทุกข์ทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น กุศล อกุศล ทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง เราก็โกรธวันหนึ่งหลายครั้ง แต่ว่ามันก็อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ
เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตัวไหนเกิดก็รู้ไป แล้วก็เห็นมันดับไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันแก่กล้า มันสรุปได้ด้วยตัวของมันเอง ว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น

เส้นทางที่ลัดสั้น

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง