ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค ท่านพูดสั้นๆ พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราจะพัฒนาเร็วมากเลย ถ้าเก่งเฉพาะทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เก่งตอนนั้น อยู่ในชีวิตประจำวันปฏิบัติไม่เป็น อ่านจิตอ่านใจไม่ออก รู้สึกกายไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ยังไกล หลวงปู่มั่นท่านสอน หลวงพ่อฟังมาจากหลวงปู่สุวัจน์ ตอนท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ ทำสมาธิไป” ทำสมาธิ มันจะได้เกิดกำลัง กลับไปดูจิตได้ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ แล้วท่านก็สอน สรุป บอกว่า “หัวใจของการปฏิบัติ ตัวสำคัญที่สุด คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” นั่งสมาธิเก่ง เดินจงกรมเก่ง แต่เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่เป็น กิเลสลากไปกินทั้งวันเลย แล้ววันหนึ่งก่อนนอน 1 ชั่วโมงไปนั่งสมาธิ ก็หลงมา 20 ชั่วโมงแล้ว ไปนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง สู้กันไม่ไหว ฉะนั้นเราอย่าละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเกิดกุศล เกิดโลภ โกรธ หลง รู้ทัน จิตมีปฏิกิริยายินดี ยินร้าย รู้ทัน สังเกตอย่างนี้ในชีวิตจริงๆ นี่คือหัวใจของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาเราก็นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มีเวลาเราก็ทำ ตั้งอกตั้งใจทำทุกวันๆ จิตจะมีพลัง แต่ว่าตัวสำคัญเลยที่จะแตกหักได้จริงๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ คนส่วนใหญ่มันคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฉะนั้นอยู่ข้างนอกนี่ไม่ปฏิบัติ พวกนี้บอกเลยไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ไม่ได้กินหรอก เพราะอะไร ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้ไปนั่งสมาธิอยู่เสียเมื่อไร