การเตรียมใจภาวนา

ที่ไม่เคยมีศีลก็ให้มีศีล ไม่เคยมีสมาธิก็ให้มันมีบ้าง ไม่เคยเจริญปัญญาที่จะคอยรู้กายรู้ใจก็ให้มาหัดที่จะคอยรู้กายรู้ใจบ้าง คอยรู้สึกอยู่ที่กายคอยรู้สึกอยู่ที่ใจ อย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรมว่าคือ การนั่งหลับหูหลับตา การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไปเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ แต่การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงก็คือการมีสติ คนไหนชอบรู้ลมหายใจ ก็ให้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก มีสติไปเรื่อย

แนะนำวิธีการเดินจงกรม โดยคุณประสาน พุทธกุลสมศิริ

ที่จริง เดินจงกรมนะ เดินสบายๆ เดินแบบเราเคยเดินอย่างไรก็เดินอย่างนั้น เดินด้วยความรู้สึกตัว เวลาเดินจงกรม เดินแบบเวลาเราเดินชอปปิ้ง เดินยังไงนะ เราก็เดินอย่างนั้นล่ะ เราเมื่อยแล้วเราไขว้หลังก็ได้ เราเปลี่ยนท่าบ้าง เอามือมากอดอกบ้างก็ไม่มีปัญหา สำคัญว่าเรามีสติหรือเปล่า

แนะนำวิธีการเดินจงกรม โดยคุณมาลี ปาละวงศ์

เวลาที่เราเดิน ที่หัวจงกรม มือไม่ไขว้หน้า มือไม่ไขว้หลัง แต่ไม่ใช่หมายความว่าถูกสำหรับทุกคน แล้วเหมาะกับทุกคน

เวลาที่เราเดิน คุณเดินช็อปปิงท่าไหน คุณเดินท่านั้น คุณเดินเข้าห้องน้ำท่าไหน เดินท่านั้น เราถึงจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง การเดินจงกรมเป็นกรรมฐานที่เคลื่อนไหว หลวงปู่ดูลย์ท่านเขียนไว้ในหนังสือท่านเลย “สมาธิที่หยั่งลงถึงความสงบแล้วด้วยการเดินจงกรม จะมีกำลังมากกว่านั่งหรือนอน” แล้วเราสามารถไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

หลายๆ ท่านที่เดินจงกรมแล้ว ลองกลับไปสังเกตว่า เรารู้สึกตัวได้จริงไหม ถ้าการเดินจงกรมของคุณถูกต้อง เวลาที่คุณอยู่ในชีวิตประจำวัน แค่เท้าขยับ จิตมีสติตื่น เราเรียกว่า alert ตื่นขึ้นเลย คุณนั่งอยู่บนโต๊ะทำงาน แค่คุณสะบัดปากกา จิตจะตื่นเลย ถ้าคุณถูกต้อง แต่ถ้าคุณไปสังเกตแล้วมันไม่เกิดอาการเหล่านี้เลย ให้ดูไว้ก่อน เราต้องผิดตรงไหนสักอย่างหนึ่ง

จิตจะมาเห็นกายที่เดิน เราก็รู้ว่าเห็นกาย จิตจะเห็นว่าไหลไปคิด ก็รู้ว่าไหลไปคิด แล้วแต่ว่าตอนนั้นอะไรเด่น จิตตอนนั้นถ้าอะไรเด่น รู้ว่ามันเด่น เราไม่สนใจ เพราะในระหว่างนั้นเป็นเวลาที่เรามารู้ความจริงของกายกับใจ

วิธีที่ผิด ส่วนใหญ่ที่หัวจงกรมกับท้ายจงกรม ก่อนเดิน มือไม่ไขว้หน้า มือไม่ไขว้หลัง คุณวางอย่างที่คุณเดินในชีวิตประจำวัน อย่างเวลาคุณเดินข้ามถนน ก่อนเดิน ทำความรู้สึกตัว

ทำความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ทุกคนลองหลับตา จะให้ลองรู้ว่ารู้สึกตัวเป็นอย่างไร รู้สึกไหมว่าเย็น ถ้ารู้สึกพยักหน้า พยักหน้าขึ้นลงก็ได้ ส่ายหน้าก็ได้ ให้หลับตาเพราะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคุณจะรู้สึกว่าคุณเห็นด้วยตาเนื้อ ความรู้สึกตัว คือความรู้สึกข้างใน เรารู้จากจิต พยักหน้าขึ้นลงเลยค่ะ เอาสบายๆ ไม่ต้องบังคับว่าต้องเป็นจังหวะ ขวาซ้ายก็ได้ แล้วแต่ชอบแบบไหน ลองดู

ลองยิ้ม แล้วเปิดตา เปิดด้วยความสดใสเพราะเรายิ้ม รู้สึกตัวเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ต้องแน่นๆ ต้องชัดๆ ต้องดีๆ นึกออกไหมนักภาวนา เวลาดูลม รู้สึกต้องชัดๆ รู้สึกว่าต้องดีๆ เอาแค่นี้ ความรู้สึกตัวคือแบบนี้ เรารู้สึกถึงตัวนี้ว่ายืนอยู่ เหมือนที่ในขณะนี้ทุกท่านรู้สึกว่าตัวนี้นั่งอยู่ แค่รู้สึกแค่นั้น เย็น รู้ว่ามันเย็น แค่นี้จบแล้ว จากนั้นคุณเดิน…

Read more

วิถีแห่งความรู้แจ้ง

การจะปฏิบัติจนจิตเข้าใจถึงสภาพธรรมที่เหนือความปรุงแต่ง จะกระทําได้ด้วยการลืมตาตื่นออกจากโลกของความคิดฝันปรุงแต่ง แล้วหันหน้ามาเผชิญกับปรมัตถธรรมท่ีกําลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความหลงยินดียินร้ายแม้แต่กับกิเลสบาป ธรรม ไม่เพ่งจ้อง และไม่เผลอเติมความคิดปรุงแต่งลงในการรับรู้ นี้คือวิถีที่จะรีดกระแสความคิดปรุงแต่งให้เรียวเล็กจนขาดลง เมื่อกระแสของความปรุงแต่งขาดลง สภาพธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่งก็จะปรากฏออกมาเอง

การทําความรู้ตัว เป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเราคุ้นเคยแต่กับความไม่รู้ตัวแล้ว หลงอยู่ในโลกของความคิดฝ้น จึงจําเป็นที่เราจะต้องศึกษา ทําความเข้าใจ แล้วลงมือ ปฏิบัติอย่างจริงใจ

หนังสือเล่มนี้ ได้นําเสนอข้อเขียนบางส่วนของอุบาสกนักปฏิบัติผู้หนึ่งคือ นาย ปราโมทย์ สันตยากร / “สันตินันท์” / “อุบาสกนิรนาม” ทั้ง 4 เรื่อง มีสาระเดียวกันคือ นําเสนอแนวทางการเจริญสติ เพียงแต่มีความยากง่ายในการอธิบายแตกต่างกัน

แด่เธอผู้มาใหม่: เรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่เรียกว่าธรรมะ

เป็นการยากที่เราจะเห็นได้ว่า ธรรมะเป็นเรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด เพราะภาพลักษณ์ของศาสนา หรือของธรรมะ ที่เรารู้จักนั้น ดูอย่างไรก็ไม่ธรรมดาเลย เริ่มตั้งแต่ภาษาที่ใช้ เต็มไปด้วยภาษาบาลี มีศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะมากมาย แค่ทำความเข้าใจศัพท์ก็ยากนักหนาแล้ว

พอรู้ศัพท์แล้วลงมือศึกษาตำราจริงๆ ก็พบความยากอีก คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มีมากเหลือเกิน และตำราที่พระรุ่นหลังลงมาท่านเขียนไว้ ก็มีอีกมากมาย

บางท่านพอใจที่จะลงมือปฏิบัติ ก็มีปัญหาอีกว่า สำนักปฏิบัติมีมากมาย ทุกสำนักบอกว่าแนวทางของตนถูกตรงที่สุดตามหลักมหาสติปัฏฐาน บางทีก็ทับถมสำนักอื่นหน่อยๆ ว่า สอนไม่ตรงทาง

ความยากลำบากนี้ พบกันทุกคนครับ ทำให้ผมต้องนั่งถามตนเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะศึกษาธรรมได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องรู้ศัพท์บาลี หรือไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือเข้าสำนักปฏิบัติใดๆ เลย