รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

อยากได้ความสุขหรืออยากพ้นทุกข์

คนที่ภาวนาแล้วปรารถนาความพ้นทุกข์มีน้อยจริงๆ ส่วนมากจะขอเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ คนที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์พ้นการเวียนว่ายตายเกิดมีน้อย ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอก ทำไมคนทำทาน ถือศีล ทำบุญอะไรต่ออะไรมีจำนวนมาก แต่คนซึ่งจะบรรลุมรรคผลมีจำนวนน้อย เราก็เลือกเอาเราต้องการอะไร ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป ต้องการสิ่งที่สูงกว่านั้นคือความพ้นทุกข์ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ มันจะตัดภพตัดชาติของเราให้สั้นลงๆ

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว