การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่ …

Read more

หลักของการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น