สัจฉิกิริยา

เวลาเราภาวนารู้ทุกข์เข้าไปเถอะ ถ้ารู้พอแล้วมันละสมุทัยเอง ทันทีที่สมุทัยคือตัณหาคือความอยากถูกละไป จิตจะเข้าถึงนิโรธ อันนี้สัจฉิกิริยา วิธีจะเข้าถึงสัจฉิกิริยาก็ไม่มีอะไร ก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์ จนละสมุทัย แล้วก็แจ้งนิโรธ ไปสัมผัสพระนิพพาน หน้าที่ของเราก็คือรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัยได้ ละสมุทัยได้เราก็แจ้งพระนิพพานได้ เรียกว่ามีสัจฉิกิริยาสำเร็จแล้วตรงที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ จะรู้ได้ดีก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรคตรงรู้ทุกข์มีสัมมาญาณะนั่นล่ะ ก็มีองค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เรารู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้ง

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

อาสวะที่พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด

ถ้าจิตมันพ้นจริงๆ จิตมันวางขันธ์ได้ มันเห็นความจริง ขันธ์ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็จิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันวาง จิตมันจะมีอาการชนิดหนึ่งขึ้นมา ถัดจากนั้นจิตมันจะพรากจากขันธ์
แยกออกจากขันธ์เลย ไม่เข้าไปคลุกในขันธ์อีกแล้ว ที่จิตมันไม่เข้าไปคลุกในขันธ์แล้ว เพราะว่ามันสิ้นอาสวะแล้ว อาสวะ 4 ตัวนี้พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ คือละในเรื่องความคิดความเห็นผิดๆ อย่าว่าแต่ความเห็นผิด กระทั่งความเห็นถูกยังไม่ยึดเลย แล้วก็อวิชชาสวะ อวิชชาสวะนี้เป็นตัวหัวโจกของอาสวะเลย ถ้าล้างตัวนี้ได้อวิชชาก็จะไม่เกิด อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4

ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

หัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย

อนัตตลักขณสูตร

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น