ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

เราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5