วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

ปัญญารวบยอด

ถ้าจิตเกิดคิดขึ้นมาแล้วเราเป็นคนรู้ ความคิดนั้นจะขาดสะบั้นทันทีเลย แล้วเราจะเห็นสภาวะสุขเกิดดับ เกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ รูปหายใจออกเกิดแล้วดับ รูปหายใจเข้าเกิดแล้วดับ รูปยืนเกิดแล้วดับ รูปนั่งรูปนอนรูปอะไรก็ตามเกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ สุดท้ายจิตมันจะสรุป มันปิ๊งขึ้นมาเลยนะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จริงก็คือ Everything ที่เกิด ทุกสิ่งที่เกิด ทำไมไม่บอกว่าสุขเกิดแล้วดับทุกข์เกิดแล้วดับ เพราะปัญญาตัวนี้เป็นปัญญารวบยอด รวบยอดว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น มันรวบยอดระดับนี้ มันถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งเลย กายเรานี้พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็แค่วัตถุยืมโลกมาใช้ชั่วคราว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่วอะไรก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตเองก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์จิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลง เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก

การจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา

หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติจริงๆ ทิ้งไม่ได้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะค่อยๆ มีปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์เป็นลำดับๆ ไป พอเราฝึกรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็ฝึกง่าย ศีลเสียสมาธิก็ไม่มี แตกหมด