Category: พระธรรมเทศนา วัดสวนสันติธรรม
แผ่นที่ ๙๘
ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ
แผ่นที่ ๙๔
เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา
แผ่นที่ ๙๓
ความสุขในโลกมันมากลบความทุกข์ในโลกเอาไว้ชั่วคราว จริงๆ เราทุกข์ทุกวันเลย แต่เราไปหาอะไรเล่นเพลินๆ มีความสุขเพราะเผลอเพลิน ก็เลยไม่เห็นว่าความทุกข์กำลังดำรงอยู่ ความทุกข์กำลังทำงานอยู่ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจโลก ถ้าเข้าใจโลกแล้วก็มันจะวางออกจากโลก
แผ่นที่ ๙๒
เราทำบุญสิ่งที่เราจะได้คือความสุข อย่างเรารักษาศีลมาดี พอเรานึกถึงเราก็มีความสุขแล้ว เราได้ช่วยคนอื่น ช่วยสัตว์อื่น พอเรานึกถึงก็มีความสุขแล้ว เรานั่งสมาธิ เดินจงกรมจิตสงบ เข้าฌานได้ก็มีความสุข
แต่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ ได้ปัญญา มันเหนือกว่าบุญคือตัวกุศล กุศลเป็นความฉลาด รู้ผิดชอบชั่วดี รู้สิ่งที่ควรละเว้น สิ่งที่ควรประพฤติ ก็สามารถพัฒนาจิตใจตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ฉะนั้นบุญให้ความสุขเรา กุศลให้ความพ้นทุกข์เรา ทำได้ทั้งบุญทั้งกุศลดีที่สุด มีทั้งความสุขด้วยและไม่ทุกข์ด้วย
แผ่นที่ ๙๑
ภาวนา อย่าทำตัวเองให้ลำบากเกินไป ให้เครียด บางทีพอตั้งใจ มันบังคับกาย บังคับใจมากไป ให้เดินอยู่ในทางสายกลาง ทางกลางๆ ไม่ย่อหย่อน ย่อหย่อนก็คือปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยกายปล่อยใจตามกิเลส ผัดวันประกันพรุ่งอะไรอย่างนี้ ย่อหย่อน ตึงเกินไป พอคิดถึงการปฏิบัติก็บังคับกายบังคับใจ ก็ผิดอยู่ 2 ด้าน หย่อนไปกับตึงไป มันเลยไม่เข้าทางสายกลางเสียที