จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา

วิธีล้างความเห็นผิด

จะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

ภาวนาใหม่ๆ รู้สึกจิตผู้รู้มันเป็นตัวสุข จิตผู้หลงมันเป็นตัวทุกข์ จิตยังมี 2 อัน ตัวสุขกับตัวทุกข์ ภาวนาจนถึงจุดหนึ่งจะแจ้งเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีตัวสุข อันนั้นเรียกว่าเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว พอรู้ทุกข์จริงๆ มันจะวางเลย จะวางจริงๆ วางวัฏฏะลงไป วัฏสงสารถล่มลงตรงนั้น ตรงที่รู้แจ้งในกองทุกข์ของขันธ์ 5 นั้น หรือของอายตนะ 6 หรือของธาตุ 18 ของอินทรีย์ 22 ก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรานึกว่ามี มันแค่การประชุมกันขององค์ธรรมจำนวนมาก อยู่ชั่วคราวก็แตกสลายออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวไปหมดเลย