ใช้จิตประภัสสรไปเจริญปัญญา

จิตที่มีสติก็ประภัสสร เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส จิตเป็นกุศล ผ่องใส ประภัสสร พอได้จิตที่ผ่องใสประภัสสร มีสติอยู่ ก็เอาสตินั้นล่ะ เอาจิตอันนั้นล่ะไปเจริญปัญญา ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จิตผู้รู้ก็คือจิตประภัสสรนั่นเอง เป็นจิตที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีสติอยู่ เป็นกุศลจิต เราจะต้องพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาไม่ได้ เราไปเจริญปัญญาไม่ได้จริง เราเอาจิตที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสไปเจริญปัญญา ความรู้ความเห็นนั้นจะเจือปนด้วยอคติ จะมีอคติ เพราะว่ามันมีกิเลสในการมอง ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาเลยไม่ใช่ของจริง ปนเปื้อนด้วยอคติ

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน