การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น

พัฒนาจิตให้เป็นผู้เห็น

เมื่อวานหลวงพ่อบอกเรื่องจะเปิดให้จองเข้ามาฟังธรรม ตั้งแ …

Read more

วิหารธรรมที่เหมาะกับเรา

หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียอย่างหนึ่ง ไปดูเอาควรจะอยู่กับอะไร เช่น อยู่กับลมมันละเอียดไป หลงยาว ไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลย ก็ใช้ของที่หยาบขึ้น รู้ยืน เดิน นั่ง นอน มันหยาบไปก็ใช้กลางๆ ขยับก็รู้ไป มันพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป หรือจะดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ถ้าจะดูจิต จิตของเราขี้โลภ เราก็ใช้ความโลภเป็นตัวหลักเป็นวิหารธรรม จิตของเราขี้โกรธก็ใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม จิตของเราฟุ้งซ่านก็ใช้ความฟุ้งซ่านเป็นวิหารธรรม ก็ต้องค่อยๆ หัดดูไป เดี๋ยวก็ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา สุดท้ายก็จะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ก็ได้ธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน