สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้