การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

สัมมาทิฏฐิ

เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5

จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

ที่พักของจิต

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลาย

ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา