วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

ฆราวาสมีหน้าที่ทั้งทางโลกทางธรรม

เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด

ที่พักของจิต

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลาย

ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ

เป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์

เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เรื่องหรอก เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้ จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด เป้าหมายของเราอันแรกเลยก็คือต้องพ้นทุกข์ก่อน

ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

Page 1 of 2
1 2