จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา

ทาน ศีล ภาวนา

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ให้รู้จักทำทาน หมายถึงแบ่งปันส่วนที่เกิน ให้ส่วนที่เกินไปกับคนที่เขาจำเป็นกว่าเรา อย่างเรามีเสื้อผ้าเยอะ ช่วงนี้ฤดูหนาว คนที่เขาขาดแคลน เขาจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าอันนี้มากกว่าเรา พวกเราไม่จำเป็นเท่าไร มีมากอะไรอย่างนี้ ท่านสอนให้รู้จักให้ทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว การฝึกจิตใจที่สูงขึ้นมาคือการรักษาศีล หลวงพ่อแนะนำ พวกเราควรจะถือศีล 5 ให้ได้ ศีล 5 จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีความสามารถพิเศษ เราจะรู้เลย สัตว์ในอบายภูมิมากมาย ที่ไปสู่อบายภูมิเพราะไม่มีศีลมาถึงภาวนา ภาวนาเป็นงานของจิตทั้งสิ้นเลยเป็นงานพัฒนาจิตโดยตรง มี 2 งาน งานหนึ่งเป็นการพัฒนาจิตให้สงบและตั้งมั่น งานที่สองเป็นการฝึกจิตให้ฉลาดรอบรู้ เข้าใจความจริงของโลก ของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นมันต้องผ่านงานที่สองถึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ถ้าลำพังมีแต่แค่งานที่หนึ่ง ทำสมาธิเพื่อความสุขความสงบ ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก ยังไม่พ้นทุกข์หรอก แค่มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวตอนทำสมาธิ

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา