เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

ปัญญานำสมาธิ

จะทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด เคยทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำอันนั้น แล้วแทนที่มุ่งไปที่ความสุขความสงบ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป เราจะเดินปัญญา อย่างนี้เรียกปัญญานำสมาธิ ใช้สมาธิชนิดขณิกสมาธิ สมาธิทีละขณะๆ อย่างนี้ อย่างเรารู้ทันว่าจิตไหลไปปุ๊บ ตรงนี้สมาธิก็เกิดขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวก็ไหลไปอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมุนไปทุกหนทุกแห่งใน 6 ช่องทาง ตรงที่เรามีสติรู้มันจะมีจิตผู้รู้แทรกขึ้นมากั้นกลาง