คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

เวลาคิดจิตจะดึงกลับมาที่กาย ระลึกเสมอว่าร่างกายไม่ใช่เรา แต่จิตก็ยังไม่ปล่อยวาง อุปสรรคในการปฏิบัติคือถีนมิทธะ หนักไปทางง่วง บางครั้งรู้ว่าง่วงขณะปฏิบัติแต่ฝืนไม่อยู่

คำถาม: ปฏิบัติใช้หลักอานาปานสติ เวลาคิดจิตจะดึงกลับมาที …

Read more

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกว่า “กัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนกับแสงเงินแสงทองตอนเช้ามืด ถ้าแสงเงินแสงทองขึ้นตรงไหน สว่างขึ้นด้านไหน เป็นเครื่องหมายแรกว่า พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นตรงนั้น การมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกของการบรรลุอริยมรรค ท่านสอนอย่างนี้ แล้วต่อมาท่านก็สอนอีก “โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนแสงเงินแสงทองขึ้นมา แล้วพระอาทิตย์จะขึ้นตรงนี้ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ถึงวันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นใน 2 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ แต่วันนี้พิสูจน์ยากว่าใครคือกัลยาณมิตร สิ่งที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราคือโยนิโสมนสิการ ปลอดภัยที่สุด โยนิโสมนสิการบอกแล้วไม่ใช่การพิจารณา ใคร่ครวญเอาตามใจกิเลส ต้องดูว่ามันถูกหลักของการปฏิบัติหรือเปล่า

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติจริงๆ ทิ้งไม่ได้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะค่อยๆ มีปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์เป็นลำดับๆ ไป พอเราฝึกรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็ฝึกง่าย ศีลเสียสมาธิก็ไม่มี แตกหมด