การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

วางขันธ์ 5 เป็นลำดับไป

ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยการเรียงลำดับของพระพุทธเจ้านี้มีขั้นมีตอน เรียงขันธ์ 5 ของที่หยาบที่สุดคือรูปแล้วก็ถึงนามธรรม นามธรรมก็มีส่วนที่หยาบ ส่วนที่ละเอียด เวทนาหยาบที่สุดเลย ดูง่าย ในนามธรรมทั้งหลาย เราค่อยๆ เรียนจากของหยาบที่สุดคือรูป มาเวทนา สัญญา สังขาร เราก็ค่อยแยกๆๆๆ ไปจนถึงตัวจิต เห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ แล้วก็วางเป็นลำดับๆ ไป มันวางรูปได้ก่อน ตรงที่เห็นรูปไม่ใช่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตรงที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน ตรงที่เห็นความจริงว่ารูปไม่ควรยึดถือเพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นล่ะได้พระอนาคามี ตรงที่วางจิตได้ หมดความยึดถือจิต มันก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ วางขันธ์ 5 ได้สิ้นเชิง