จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

เข้าใจธรรมดาของโลก

ภาวนาทุกวันๆ จนกระทั่งเข้าใจคำว่า ธรรมดา จนเห็นกายเห็นใจมันเป็นธรรมดาอย่างนี้ ถ้าเราเห็นกาย เห็นใจมันมีธรรมดา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ใจมันไม่ทุกข์หรอก ฉะนั้นที่เราฝึกกันแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้ฝึกเพื่อเอาดี เอาสุข เอาสงบอะไรหรอก ฝึกจนจิตมันเข้าใจ มันยอมรับความจริงได้ว่าธรรมดามันเป็นอย่างไร

การดูจิต

กฎของการดูจิต ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์