รถวินีตสูตร

วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้

ทุกขาปฏิปทา

ภาวนาอย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวลำบาก อดทนเอา แต่ว่าดูตัวเอง ถ้ากิเลสของเราเป็นพวกกิเลสเบาบาง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติโหดๆ ถ้าพวกกิเลสหนา ราคะแรง โทสะแรง หรือโมหะแรง พวกนี้ต้องทุกขาปฏิปทา อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ห้าวหาญ สู้ตาย ถ้ารอดมาก็จะได้ดี แต่บอกให้อย่างหนึ่ง ไม่เคยมีใครนั่งสมาธิแล้วตายหรอก ไม่เคยมีใครปฏิบัติแล้วตายหรอก เพราะฉะนั้นอ่อนแอไม่ได้ ดูตัวเองเลย ถ้าเป็นคนที่กิเลสรุนแรง อดทนไว้ ขยันนั่งสมาธิ ขยันเดินจงกรม

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่ …

Read more

เดินให้ถูกทาง

ถ้าเราปฏิบัติถูกทาง อยู่ในทางสายกลาง แล้วเราก็ไม่ไปมีอุปสรรคกลางทาง วันหนึ่งเราก็ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ขวางเรา ไม่ให้ไปพระนิพพาน ไม่ใช่ใครอื่น คือใจที่อ่อนแอของเราเอง ถ้าเราไม่รู้ทาง เราไปไม่ได้ ถ้ารู้ทางแล้วอ่อนแอก็ไม่ยอมไป ใช้ไม่ได้

หลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อรู้จักเดินทางสายกลาง ไม่เผลอลืมจิตใจของตนเอง ไม่ไปเพ่งจ้องบังคับจิตใจของตัวเอง ไม่สุดโต่ง 2 ข้าง ถัดจากนั้นหลวงพ่อดูทุกวัน ไม่เคยเลิกเลย การภาวนาไม่หยุดเลย อยู่ตรงไหนก็ปฏิบัติได้ ถึงเวลาสมควรทำสมถะก็ทำ ถึงเวลาที่จิตมีกำลังพอจะเดินปัญญา ก็เดินปัญญา ไม่เกยตื้น สำรวจตัวเองอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นเราก็สำรวจตัวเอง เดินให้ถูกทางก่อน หลวงพ่อพูดง่ายๆ ทางสายกลาง ไม่เผลอ ไม่เพ่ง 2 ตัวนี้ เผลออยู่ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค เพ่งอยู่คืออัตตกิลมถานุโยค ไม่เผลอ ไม่เพ่ง คือภาวะแห่งการรู้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น นี่เราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว แล้วอย่าไปติดไปค้างอะไรอยู่กลางทาง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไป ถึงวันหนึ่งเราก็จะถึงพระนิพพาน