ทำบุญให้เป็น

พระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส สุคติก็เป็นอันหวังได้” อย่างการทำทาน การช่วยเหลือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาทำโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นบุญที่สูง อย่างถ้าเราจะทำบุญสักอย่าง เราก็ยกมือจบเหนือหัว เจ้าประคุณที่บริจาคทรัพย์ครั้งนี้ ขอให้เกิดมาเมื่อไรก็รวยเมื่อนั้น ชาตินี้ก็ขอให้รวยๆๆๆ นี่เจือด้วยกิเลส ทำบุญแบบนี้ได้บุญเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ไม่ได้บุญเยอะหรอก เพราะว่าทำบุญไปด้วยทำบาปไปด้วย เราจะทำบุญ ทำให้มันบริสุทธิ์จริงๆ ทำไปแล้วต้องลดละความเห็นแก่ตัวให้ได้ จับหลักตัวนี้ไว้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หัดทำบุญให้เป็น ทำบุญให้เป็นไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ อย่างเราเห็นใครเขาดี เราก็ดีใจกับเขาด้วย คนนี้เขาทำความดีเราดีใจกับเขา

อนุสติ 10

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป
เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ
จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์
เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน
ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ
สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว
มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี
กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ
อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ
มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป

รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

ทุกขาปฏิปทา

ภาวนาอย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวลำบาก อดทนเอา แต่ว่าดูตัวเอง ถ้ากิเลสของเราเป็นพวกกิเลสเบาบาง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติโหดๆ ถ้าพวกกิเลสหนา ราคะแรง โทสะแรง หรือโมหะแรง พวกนี้ต้องทุกขาปฏิปทา อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ห้าวหาญ สู้ตาย ถ้ารอดมาก็จะได้ดี แต่บอกให้อย่างหนึ่ง ไม่เคยมีใครนั่งสมาธิแล้วตายหรอก ไม่เคยมีใครปฏิบัติแล้วตายหรอก เพราะฉะนั้นอ่อนแอไม่ได้ ดูตัวเองเลย ถ้าเป็นคนที่กิเลสรุนแรง อดทนไว้ ขยันนั่งสมาธิ ขยันเดินจงกรม

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ชีวิตติดกับความหดหู่ ​เพราะแมวที่เลี้ยงไว้ป่วย จิตคอยสงสารสัตว์​ไปทั่ว​ กลัวความเจ็บป่วยพลัดพราก กลัวภาระ

คำถาม: ชีวิตติดกับความหดหู่ ​เพราะแมวที่เลี้ยงไว้ป่วย จ …

Read more

หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเกิดกุศล เกิดโลภ โกรธ หลง รู้ทัน จิตมีปฏิกิริยายินดี ยินร้าย รู้ทัน สังเกตอย่างนี้ในชีวิตจริงๆ นี่คือหัวใจของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาเราก็นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มีเวลาเราก็ทำ ตั้งอกตั้งใจทำทุกวันๆ จิตจะมีพลัง แต่ว่าตัวสำคัญเลยที่จะแตกหักได้จริงๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ คนส่วนใหญ่มันคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฉะนั้นอยู่ข้างนอกนี่ไม่ปฏิบัติ พวกนี้บอกเลยไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ไม่ได้กินหรอก เพราะอะไร ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้ไปนั่งสมาธิอยู่เสียเมื่อไร

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ

Page 1 of 2
1 2