สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

ใช้จิตประภัสสรไปเจริญปัญญา

จิตที่มีสติก็ประภัสสร เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส จิตเป็นกุศล ผ่องใส ประภัสสร พอได้จิตที่ผ่องใสประภัสสร มีสติอยู่ ก็เอาสตินั้นล่ะ เอาจิตอันนั้นล่ะไปเจริญปัญญา ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จิตผู้รู้ก็คือจิตประภัสสรนั่นเอง เป็นจิตที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีสติอยู่ เป็นกุศลจิต เราจะต้องพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาไม่ได้ เราไปเจริญปัญญาไม่ได้จริง เราเอาจิตที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสไปเจริญปัญญา ความรู้ความเห็นนั้นจะเจือปนด้วยอคติ จะมีอคติ เพราะว่ามันมีกิเลสในการมอง ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาเลยไม่ใช่ของจริง ปนเปื้อนด้วยอคติ

อย่าทิ้งจิตตนเอง

ถ้านิมิตใดๆ เกิด ไม่ต้องไปค้นคว้าว่าจริงหรือปลอม ให้ย้อนกลับมาที่จิตตนเอง นิมิตนั้นจะสลายไปหมดเลย เสื่อมสลายไปหมดเลย อย่างเวลาเรานั่งสมาธิอยู่ แล้วเราเห็นเทวดามาเยอะแยะอย่างนี้ เราอย่ามัวไปดูเทวดา ย้อนมาที่จิต จิตสงสัยว่าจริงหรือปลอม พอเราเข้าถึงจิตแล้วกลับย้อนออกไปดู ถ้าเป็นนิมิตปลอม มันจะหายไปหมดแล้ว นิมิตปลอมจะดับหมด ในทันทีที่เราย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง ฉะนั้นเวลานิมิตเกิด ย้อนมาที่จิตตนเองก่อน แล้วถ้าจะต้องการรู้ข้างนอก ค่อยกลับออกไปรู้ ถ้าเป็นของจริงก็ยังอยู่ ถ้าเป็นของเก๊ก็หายหมด แต่ว่าไม่มีสาระอะไร รู้ว่าเทวดาจริงๆ มา แล้วมันได้อะไร ได้มานะอัตตา กูใหญ่ กูเก่ง โหย เทวดายังมาไหว้กู มีแต่เรื่องกิเลส ฉะนั้นอย่าไปหลงนิมิต ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นให้ย้อนเข้าที่จิตตนเองไว้

จับหลักให้แม่น ปลอดภัยที่สุด กัลยาณมิตร ไม่รู้ว่าใครเป็นกัลยาณมิตร สิ่งที่จะช่วยเราได้คือโยนิโสมนสิการ การแยบคายในการสังเกตตัวเอง ฉะนั้นนิมิตเกิดขึ้นก็แยบคาย ย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง อย่าทิ้งจิตตนเอง แล้วจะไม่พลาด

รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

มีคนจำนวนมากบอกปฏิบัติมาหลายสิบปีเลย มันก็ได้แค่นั้น พอมาฟังหลวงพ่อพูด เรื่องเจริญสติเรื่องอะไร จิตใจก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูกจะไม่เนิ่นช้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเนิ่นช้า แสดงว่าต้องมีอะไรพลาดแล้ว อันแรกเลย ปฏิบัติไม่ถูก อันที่สอง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วก็หยุดๆ พวกตุ่มรั่ว ที่หลวงพ่อเรียก พวกตุ่มรั่ว

พอเขารู้จักการเจริญสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะทำอะไร ก็รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ สติก็ไวขึ้นๆ พอสติมันเกิด สมาธิที่แท้จริงมันก็เกิด เพราะสัมมาสติที่ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาสัมมาสติให้ได้ด้วยการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มิฉะนั้นเราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนอื่นเขาก็เดินจงกรม เขานั่งสมาธิ แต่เขาเดินเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความดี เราจะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

อุบายฝึกจิตให้สงบ

สมถกรรมฐานเป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ จิตจะสงบได้ต้องน้อมจิต ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ ธรรมะที่มากมายมหาศาล ในภาคของสมถะ หลวงพ่อรวบลงมาเหลือแค่นี้เอง “น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง” มันเป็นการน้อมจิตไป อย่างถ้าเรามีความสุขกับการหายใจ ทำอานาปานสติแล้วมีความสุข เราก็หายใจให้จิตจดจ่ออยู่กับการหายใจ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว

หรือบางคนชำนาญในแสงสว่าง หลับตาลงก็กำหนดจิต มันก็สว่างขึ้นมาแล้ว มีความสุขอยู่กับแสงสว่าง ก็น้อมจิตไปอยู่กับแสงสว่างอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมๆ ไป ไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับไม่รอดหรอก อย่างเราจะหายใจจิตมันจะหนี เราบังคับมัน ต้องอยู่กับลมๆ อยู่ด้วยความไม่มีความสุข อยู่อย่างไม่มีความสุข ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบ เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า “ต้องมีความสุข” ใช้จิตใจธรรมดาๆ จิตใจสบายๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปแบบสบายๆ มี 3 สบาย ใช้จิตใจธรรมดา จิตใจสบายๆ นี้ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปอย่างสบายๆ ไม่ได้รู้แล้วก็พยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าเราทำ 3 สบายนี้ได้ สงบทันทีเลย ทำเมื่อไรก็ทำได้ ไม่ยากอะไรหรอก ให้มันได้เคล็ดลับตรงนี้ไป

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน

เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

บวชใจให้ได้

ถ้าเราไม่มีโอกาสจะบวช อาจจะเพราะว่าไม่พร้อมที่จะบวช มีภารกิจทางโลก ยังบวชไม่ได้ หรือไม่มีภารกิจ แต่ยังหาที่บวชด้วยความเต็มใจไม่ได้ ไม่สบายใจที่จะบวช หาไม่ได้ทำอย่างไร อย่างผู้หญิงจะไปบวชภิกษุณี มันก็ไม่มีจริง ไปบวชชีแต่ละวัด เขาก็ขยาด หาที่อยู่ยาก มันมีเงื่อนไขที่เราบวชไม่ได้ เราฝึกตัวเอง บวชใจเราให้ได้ ตั้งใจรักษาศีล ศีล 5 ศีล 8 ถือเข้าไปเถอะ เท่าที่ทำได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น อย่างบางคนสุขภาพไม่อำนวย ถือศีล 8 อดข้าวเย็น แล้วทำงานหนักทั้งวันเลย ตกเย็นไม่กินข้าวอีก ไม่นานโรคกระเพาะก็ถามหา ฉะนั้นดูสภาพเราที่ทำได้จริงๆ ทำแล้วไม่เข้าข่ายอัตกิลมถาลิกานุโยค ทรมานตัวเอง แต่ไม่ใช่ปรนเปรอตัวเองตามใจชอบ มีวินัยในตัวเอง อยู่บ้านก็ภาวนาของเราไป ฆราวาสก็ทำมรรคผลได้