บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา

เส้นทางที่ลัดสั้น

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

ปฏิบัติบูชา

การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ ก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

ปฏิบัติบูชา

การภาวนาไม่ต้องกลัวหรอก ทำไปเถอะ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกวันๆ แล้วก็สังเกตใจของเราไป ที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เราทำด้วยความโลภไหม ถ้าโลภเราก็อยากได้ผลเยอะๆ อยากได้ผลเร็วๆ อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที ฉะนั้นเราก็ปรับใจใหม่ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาอะไร แต่ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไปเท่านั้นเอง เหมือนเราจัดดอกไม้บูชาพระไม่ได้หวังว่าจะต้องได้อะไร ฉะนั้นปฏิบัติไม่คาดหวังว่าจะได้อะไร ทำให้สม่ำเสมอทุกวันๆ

ฝึกมา 3 ปีในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบคือนั่งสมาธิ เดินจงกรมเช้า – เย็น เวลานั่งสมาธิก็จะดูลมหายใจแล้วนับเลข พอถึงจำนวนครั้งที่กำหนด ก็จะเปลี่ยนเป็นพิจารณาเล็บ เวลาเดินจงกรมก็นับรอบที่เดิน สลับกับพิจารณาเล็บเช่นกัน จะมีบ่อยๆ ที่เผลอไปคิดเรื่องอื่นแต่สั้นๆ พอหยุดคิดก็ดูใจ การนับลมหายใจหรือการพิจารณาเล็บยังทำอยู่ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดไปตอนที่เผลอคิด ทำแบบนี้มา 3 ปี ในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไปคะ

 

หลวงพ่อ:

ปฏิบัติอย่างนี้ล่ะ ที่ทำอยู่นี้ก็ก้าวหน้าแล้ว มันก็มีพัฒนาการ เราอย่าใจร้อน ถ้าเราภาวนาแล้วอยากได้ผลเร็วๆ ใจมันจะฟุ้งซ่าน ต้องตั้งใจไว้เลยเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า จะได้ผลหรือจะไม่ได้ผลก็เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา รู้ซื่อๆ ไป ใช้ได้นะที่ฝึก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564