สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน

คุณแม่ชีน้อยอยู่หินหมากเป้ง ท่านก็เคยพูดเรื่อยๆ บอก “คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน” น้ำบ่อเดียวกันหมายถึงพระนิพพาน คนที่ปฏิบัติมุ่งไปที่เดียวกัน ไปพระนิพพาน เดินทางเดียวกันคือทางของเอกายนมรรค ทางของสติปัฏฐานนี่ล่ะ แต่ไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงวิธีการปฏิบัติในรายละเอียดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคนจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมด ลงมาตัดที่จิตนั่นเอง ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แทงตลอดปฏิจจสมุปบาทที่จิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเริ่มต้นในสิ่งที่เราทำไม่ได้

เส้นทางของคนจริง

การภาวนาต้องทำสม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้ผลหรอก เราหยุดเมื่อไร กิเลสก็ลากเราลงต่ำไป กว่าจะดิ้นรนกลับขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง มันใช้แรงเยอะ ถ้าทำแล้วก็หยุดๆ มันก็อยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็นานๆ ก็หมดกำลังที่จะปฏิบัติ มันต้องอดทนจริงๆ ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปเลย จะปฏิบัติ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ถ้าเราทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ มันจะมีพัฒนาการที่มองเห็นได้ด้วยตัวเอง

เส้นทางนี้ไม่ได้ยาก แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนจริง หมายถึงคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง เราทำกรรมฐานที่ดีถูกต้อง เราก็ได้รับผล ได้รับผลเป็นความร่มเย็นในจิตใจ การที่เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกเราเจริญเหตุที่เป็นตัวมรรค ผลคือความพ้นทุกข์ มันก็จะมาถึงในวันหนึ่ง

อุบายฝึกจิตให้สงบ

สมถกรรมฐานเป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ จิตจะสงบได้ต้องน้อมจิต ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ ธรรมะที่มากมายมหาศาล ในภาคของสมถะ หลวงพ่อรวบลงมาเหลือแค่นี้เอง “น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง” มันเป็นการน้อมจิตไป อย่างถ้าเรามีความสุขกับการหายใจ ทำอานาปานสติแล้วมีความสุข เราก็หายใจให้จิตจดจ่ออยู่กับการหายใจ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว

หรือบางคนชำนาญในแสงสว่าง หลับตาลงก็กำหนดจิต มันก็สว่างขึ้นมาแล้ว มีความสุขอยู่กับแสงสว่าง ก็น้อมจิตไปอยู่กับแสงสว่างอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมๆ ไป ไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับไม่รอดหรอก อย่างเราจะหายใจจิตมันจะหนี เราบังคับมัน ต้องอยู่กับลมๆ อยู่ด้วยความไม่มีความสุข อยู่อย่างไม่มีความสุข ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบ เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า “ต้องมีความสุข” ใช้จิตใจธรรมดาๆ จิตใจสบายๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปแบบสบายๆ มี 3 สบาย ใช้จิตใจธรรมดา จิตใจสบายๆ นี้ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปอย่างสบายๆ ไม่ได้รู้แล้วก็พยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าเราทำ 3 สบายนี้ได้ สงบทันทีเลย ทำเมื่อไรก็ทำได้ ไม่ยากอะไรหรอก ให้มันได้เคล็ดลับตรงนี้ไป

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย