ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

วิปัสสนาปัญญา

ไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก ตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

อย่าทิ้งจิตตนเอง

ถ้านิมิตใดๆ เกิด ไม่ต้องไปค้นคว้าว่าจริงหรือปลอม ให้ย้อนกลับมาที่จิตตนเอง นิมิตนั้นจะสลายไปหมดเลย เสื่อมสลายไปหมดเลย อย่างเวลาเรานั่งสมาธิอยู่ แล้วเราเห็นเทวดามาเยอะแยะอย่างนี้ เราอย่ามัวไปดูเทวดา ย้อนมาที่จิต จิตสงสัยว่าจริงหรือปลอม พอเราเข้าถึงจิตแล้วกลับย้อนออกไปดู ถ้าเป็นนิมิตปลอม มันจะหายไปหมดแล้ว นิมิตปลอมจะดับหมด ในทันทีที่เราย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง ฉะนั้นเวลานิมิตเกิด ย้อนมาที่จิตตนเองก่อน แล้วถ้าจะต้องการรู้ข้างนอก ค่อยกลับออกไปรู้ ถ้าเป็นของจริงก็ยังอยู่ ถ้าเป็นของเก๊ก็หายหมด แต่ว่าไม่มีสาระอะไร รู้ว่าเทวดาจริงๆ มา แล้วมันได้อะไร ได้มานะอัตตา กูใหญ่ กูเก่ง โหย เทวดายังมาไหว้กู มีแต่เรื่องกิเลส ฉะนั้นอย่าไปหลงนิมิต ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นให้ย้อนเข้าที่จิตตนเองไว้

จับหลักให้แม่น ปลอดภัยที่สุด กัลยาณมิตร ไม่รู้ว่าใครเป็นกัลยาณมิตร สิ่งที่จะช่วยเราได้คือโยนิโสมนสิการ การแยบคายในการสังเกตตัวเอง ฉะนั้นนิมิตเกิดขึ้นก็แยบคาย ย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง อย่าทิ้งจิตตนเอง แล้วจะไม่พลาด

สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

เห็นจิตตัวผู้รู้ดูกายอยู่ รู้สึกตัวบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเห็นอารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับรู้สึกทรงตัวอยู่เฉยๆ

คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …

Read more

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด

เวลาภาวนาอย่าใจร้อน

ภาวนา ค่อยๆ เข้าใจไป ทำให้ถูก ไม่ใช่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ มันจะไม่ได้อะไร ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตคือภพ มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป เราก็เอาแต่ปรุงแต่ง อยากดีๆ อยากดีจิตก็เลยสร้างภพของคนดี เป็นคนดี เป็นนักปฏิบัติที่ดีอะไรอย่างนี้ มันจอมปลอมทั้งหมดล่ะ ให้รู้ทันเลย ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้

วัดใจตัวเอง

ถ้าเราภาวนาถูกต้อง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด หรือว่าเกิดได้เบาบางลง กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้น กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น พัฒนาเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าวัดด้วยวิธีนี้แล้ว มันจะชี้ได้เลยว่าที่ปฏิบัติอยู่ถูกหรือผิด วัดได้ด้วยตัวเอง สังเกตใจตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเอง เวลาเราจะวัดกิเลสตัวเอง ต้องวัดในสภาวะที่จิตอยู่ในสภาวะปกติ อย่าไปทรงสมาธิอยู่ ไปทรงสมาธิอยู่ แล้วจะให้วัด ไม่มีอะไรให้วัดเลย ต้องเป็นจิตที่ปกติ

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

Page 1 of 2
1 2