ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค ท่านพูดสั้นๆ พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี

แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ

กิจต่ออริยสัจจะชัดเจนอยู่ ตัวทุกข์เป็นตัวผลของตัณหา ละไม่ได้ การละไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์ สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย นิโรธก็เหมือนกัน นิโรธเป็นผล อยู่ๆ เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้ เราต้องทำเหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เราเจริญแล้ว ในที่สุดก็ได้ผลคือนิโรธ อยู่ๆ เราไปทำผลไม่ได้ เราต้องทำเหตุ เหตุคือมรรคต้องเจริญ ถ้าฝ่ายชั่ว เหตุคือตัณหา ต้องละคนละแบบกัน