สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

สติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่เรามีความเพียร คอยระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ระลึกรู้สภาวธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แล้วก็สูงสุดเลย ก็คือเรียนรู้กระบวนการของจิต ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง อันนั้นก็คืออริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาท

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป