วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

เห็นจิตตัวผู้รู้ดูกายอยู่ รู้สึกตัวบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเห็นอารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับรู้สึกทรงตัวอยู่เฉยๆ

คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …

Read more

รู้สึกร่างกายจิตใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคนละส่วนกัน รู้สึกจิตที่ไหลไปคิดทำให้เกิดทุกข์

เวลาเราทำสมาธิแล้วเราดูจิตใจ เราไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ จะซึมๆ เห็นอะไรไหวๆ เรานึกว่าเดินปัญญา ที่จริงจิตไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้นเวลานั่ง นั่งรู้สึก ไม่นั่งแล้วแต่งจิตให้เคลิ้ม ไม่ต้องไปแต่งให้มันเบลอๆ ลงไป ตรงนั้นไม่ดี ตรงนั้นจะทำให้โมหะของเราเยอะขึ้น แล้วเรานึกว่าเราเดินปัญญาอยู่ เห็นโน้นเห็นนี้วอบแวบๆ จิตไม่มีแรงที่จะละกิเลสหรอก ฉะนั้นเรื่องสมาธิเป็นเรื่องใหญ่ เราเรียนรู้เท่าทันจิตใจของเรา สมาธิที่ถูกมันจะเกิด ใช้จิตปกติไปรู้อารมณ์ ใช้จิตที่ปกติที่สุดเลย เราจะไม่ปล่อยจิตให้มันไหลลงไปอย่างนั้น เดี๋ยวมันเคยตัว เคยตัวแล้วต้องนั่งแก้

เริ่มต้นจนถึงสัมมาวิมุตติ

เราต้องฝึกมีความคิดก็ถูก มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก แล้วก็ลงมือภาวนา มีเป้าหมายที่ถูก ลดละกิเลสเจริญกุศล จะลดละกิเลสเจริญกุศลได้ ต้องมีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป พอมีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องหรือตัวผู้รู้ จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นเอง อาศัยสติที่บริบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิเจริญขึ้นมาบริบูรณ์ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว สติระลึกรู้รูป รู้นาม จะเห็นแต่ไตรลักษณ์ พอเห็นอย่างแท้จริง เรียกว่าเราเจริญในญาณทัศนะที่ถูกแล้ว ทำวิปัสสนาญาณอยู่ถูกต้องเรียกสัมมาญาณะ ตัววิปัสสนาญาณนั่นล่ะ สุดท้ายอริยมรรคอริยผลมันก็เกิด สัมมาวิมุตติเกิดขึ้น นี่คือเส้นทาง

พูดผิด จำไม่ค่อยได้เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจ

ภาวนาดูกายเคลื่อนไหว ชัดบ้าง หลงบ้าง เวลาใช้พุทโธ ไม่ถึง 6 ครั้ง ก็รู้สึกมีอะไรบางอย่าง พุทโธหาย บางทีหลงไปคิด รู้สึกตัวก็กลับมาพุทโธ ปัญหาคือเมื่อต้องพูดคุยที่จะเอ่ยชื่อบุคคล สถานที่ ก็จะพูดผิด เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจค่ะ

 

หลวงพ่อ:

อันนั้นเพราะจิตเราไม่สนใจ จิตเราไม่ได้สนใจ มันก็ไม่จำไว้ นี้ถ้ามีหน้าที่ต้องจำ เราก็พยายามจำ แต่มันมีอีกอย่างหนึ่ง คือความชราของสมอง ความแก่ของเรา บางทีมันก็นึกไม่ออก มันเป็นเรื่องธรรมดา บางทีก็นึกออก บางทีก็นึกไม่ออก เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าเราภาวนาแล้ว โน่นก็ไม่จำ นี่ก็ไม่จำ อันนั้นจิตมันติดสมาธิ ติดความสุข ความสงบเฉยๆ ฉะนั้นถ้าเรามีหน้าที่ต้องจำ เราก็ใช้สติให้แรงขึ้นตรงนั้น สมมติเราจะวางถ้วยอย่างนี้ ทำความรู้สึกวาง เราจะไม่ลืมแล้ว แต่ถ้าเราดูแต่จิต วางไปอย่างนี้ แล้วไปวางไว้ไหนก็ไม่รู้ นึกออกไหม ฉะนั้นเวลาจะอยู่กับโลก เพิ่มสติ หมายถึงสติที่อยู่กับโลก จะขยับเขยื้อนจะทำอะไร คอยรู้สึก เอาของไปวางตรงนี้ รู้สึกอะไรนี้ ไม่ใช่ดูแต่จิต ดูแต่จิตเดี๋ยวลืมโลกไปหมดเลย ที่ภาวนาใช้ได้ๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564