ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

เราภาวนาของเราทุกวันๆ สม่ำเสมอ ฝึกมีสติ มีจิตตั้งมั่น สม่ำเสมออยู่ เวลาเราลงมือปฏิบัติ มันจะไม่ต้องเพ่ง ก็ใช้จิตธรรมดาของเรานี้ล่ะ ภาวนาเข้าไปเลย ถ้าเราวันๆ เราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อย แล้วมาลงมือปฏิบัติค่ำๆ มาลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็เพ่ง เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วยล่ะ หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง หลงแรงกว่าคนธรรมดาอีก

รู้สึกร่างกายจิตใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคนละส่วนกัน รู้สึกจิตที่ไหลไปคิดทำให้เกิดทุกข์

เวลาเราทำสมาธิแล้วเราดูจิตใจ เราไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ จะซึมๆ เห็นอะไรไหวๆ เรานึกว่าเดินปัญญา ที่จริงจิตไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้นเวลานั่ง นั่งรู้สึก ไม่นั่งแล้วแต่งจิตให้เคลิ้ม ไม่ต้องไปแต่งให้มันเบลอๆ ลงไป ตรงนั้นไม่ดี ตรงนั้นจะทำให้โมหะของเราเยอะขึ้น แล้วเรานึกว่าเราเดินปัญญาอยู่ เห็นโน้นเห็นนี้วอบแวบๆ จิตไม่มีแรงที่จะละกิเลสหรอก ฉะนั้นเรื่องสมาธิเป็นเรื่องใหญ่ เราเรียนรู้เท่าทันจิตใจของเรา สมาธิที่ถูกมันจะเกิด ใช้จิตปกติไปรู้อารมณ์ ใช้จิตที่ปกติที่สุดเลย เราจะไม่ปล่อยจิตให้มันไหลลงไปอย่างนั้น เดี๋ยวมันเคยตัว เคยตัวแล้วต้องนั่งแก้

เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล