ความสุขที่เกิดจากปัญญา

เราปรารถนาความสุขในชีวิต เราต้องรู้ว่าความสุขอย่างโลกๆ มันสุขหลอกๆ มันสุขเพื่อให้เราทุกข์ต่อไป สุขหลอกๆ ให้เรามีแรงที่จะวิ่งพล่านๆ ตามกิเลสตัณหาต่อไป แล้วความสุขที่ประณีตกว่านั้น คือความสุขของสมถกรรมฐาน ความสุขของการทำวิปัสสนากรรมฐาน ความสุขเมื่อเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ความสุขเมื่อจิตทรงพระนิพพาน มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยๆ ไป แล้วสติปัญญาจะค่อยพัฒนาแก่กล้าขึ้น ใจจะปล่อยวางจางคลายจากโลกมากขึ้นๆ พอใจมันคลายตรงนี้ มันจะรู้เลยว่า ในโลกนี้ไม่มีสาระ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราถูกหลอกให้วิ่งพล่านๆ แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อวันหนึ่งจะสูญเสียมันทั้งหมดไป ใจฉลาดขึ้นมา ใจมีปัญญาขึ้นมา ใจก็ค่อยสงบ ใจมีความสุข

วิธีเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

นิโรธ 5

ความดับทุกข์เขาเรียกตัวนิโรธมี 5 ระดับ เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดับด้วยอริยมรรค ดับด้วยอริยผล แล้วก็นิพพาน สมถกรรมฐานดับตัวนิวรณ์ นิวรณ์เป็นตัวกั้นความเจริญทางจิตใจของเรา จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ก็ข่มนิวรณ์ไว้ชั่วคราว วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไปอย่างนี้ มันก็จะดับความเห็นผิด วิปัสสนามันสร้างให้เกิดตัวปัญญา พอเราเจริญวิปัสสนามากๆ ในที่สุดจิตมีกำลังขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ อริยมรรคมันขึ้นมาเพื่อดับกิเลส ถ้าล้างด้วยอริยมรรคจะล้างเด็ดขาด ไม่กลับมาอีกแล้วกิเลสตัวนั้นละสังโยชน์ 3 ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตัวที่สี่คืออริยผล อริยผลไม่มีการดับอะไรแล้ว มันดับที่ตัวมรรค อันนี้ตรงที่ดับคือการไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาแล้วไปดับมัน มันไม่มีงานอะไรต้องทำ แล้วนิโรธตัวที่ห้าจริงๆ คือนิพพาน จิตที่เราเข้าไปสัมผัส เข้าไปทรงพระนิพพาน มันดับ มันดับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอริยสัจ คือดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ไป สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวพวกเราก็เจอ ตอนนี้เรียน 2 ตัวแรกให้แตกฉาน

ฉลาดรู้กรรมฐานที่ควรกับตัวเอง

ต้องฉลาดในการรู้ว่าเราควรกับกรรมฐานอะไร แล้วพอเราทำกรรมฐานเราก็ต้องรู้อีกแล้ว ตอนไหนควรทำสมถะ ตอนไหนควรทำวิปัสสนา ก็ต้องรู้ เจริญปัญญาจนจิตฟุ้งซ่านแล้ว ก็ต้องมีปัญญารู้ว่า ตอนนี้ควรทำสมถะ ทำสมถะอยู่นานสงบ สบาย แล้วเพลินๆ ต้องมีปัญญารู้ตอนนี้ควรเจริญวิปัสสนาแล้ว ที่ว่าเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทั้งสมถะและวิปัสสนามันเป็นอย่างนี้