กตัญญูกับพระพุทธเจ้า

เราเป็นคนเราต้องรู้จักคำว่ากตัญญู บรรพบุรุษมีบุญคุณ คนไม่กตัญญูใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราอยากดูว่าคนไหนดีไม่ดี ดูว่าเขากตัญญูไหม ความกตัญญูกว้างขวาง กตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ใหญ่โตขึ้นมาก็คือกว้างขึ้นมาก็คือ กตัญญูกับชาติบ้านเมือง แล้วเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องกตัญญูกับพระพุทธเจ้าด้วย การจะกตัญญูกับพระพุทธเจ้า คือเราต้องเป็นลูกที่เชื่อฟังท่าน อะไรที่ท่านห้ามอย่าทำ อะไรที่ท่านบอกว่าควรทำต้องทำ สิ่งที่ท่านห้ามเราก็คืออย่าทำชั่ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้เราฝึกจิต ให้เราเจริญปัญญา

คอยวัดใจตัวเองไว้

คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง

อนุสติ 10

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป
เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ
จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์
เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน
ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ
สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว
มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี
กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ
อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ
มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

อนัตตลักขณสูตร

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

การปฏิบัติธรรมคือการลงทุนกับชีวิต

อยู่กับโลกเราก็ลงทุนทำมาหากินทำธุรกิจ หวังว่าจะมีอยู่มีกินจะมีความสุข แต่ความสุขในโลกมันไม่ยั่งยืน อย่างพวกเราหาทรัพย์สมบัติหาอะไรไว้มากมาย ในเวลาไม่กี่สิบปีมันก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป ชีวิตของคนเรามันเหมือนฝัน เมื่อตื่นขึ้นมาทุกอย่างในความฝันมันก็หายไปหมด ธรรมะนี้ให้ประโยชน์ ให้ความสุขกับเรามากที่สุด ก็เป็นความยั่งยืนในชีวิตเรา ถ้าเราลงมือปฏิบัติแล้วอยู่กับเราตลอดชีวิต ตายไปไปเกิดอีกเราก็ภาวนาง่าย พอเราลงมือทำลงมือปฏิบัติ ทำทาน รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญาให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ เมื่อเราเข้าใจความจริงของกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ถ้าเราเข้าใจความจริงของจิตใจ เราจะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไป