การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร

นั่งสมาธิแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ

คำถาม:

เมื่อก่อนเดินจงกรมอย่างเดียว นั่งสมาธิไม่ได้เพราะนั่งแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ ระหว่างวันก็บริกรรมและรู้ตัวไปด้วย อาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มกลับมาลองนั่งสมาธิใหม่ ก็กลับไปเหมือนเดิม พอรู้อย่างที่มันเป็นจิตมันก็แสดงให้เห็นว่ามันทำงานของมันเอง และรู้สึกตัวว่าตัวเราไม่มี แต่ลึกๆ มันบอกว่ามีตัวเราเป็นขอบๆ ของความรู้สึก ตอนเวลาควานหาตัวเราอยู่ เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าจิตมันดีดดิ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีที่ยึดจะอยู่ไม่ได้ รู้สึกเคว้ง รู้สึกว่าตัวเองเป็นตัณหาจริต และพื้นฐานจิตฟุ้งซ่าน จากการที่กลับมาภาวนาต่อเนืองได้ประมาณ 7 เดือน สังเกตได้ว่ารู้สึกตัวได้บ่อยขึ้น รู้อย่างที่มันเป็นพอได้ สติพอจะเริ่มมี แต่สมาธิไม่ดี ทำให้ความสงบไม่ค่อยเกิด อยากถามหลวงพ่อว่า ที่ดูมานี้ถูกไหมคะ

 

หลวงพ่อ :

ถูก แต่ว่าอย่าทิ้งการนั่งสมาธิต้องนั่งด้วย นั่งแล้วก็ที่มันไปเป็นมิจฉา เพราะเราไปเพ่งมัน ไปเพ่งจนจิตมันซึม โมหะมันแทรก เรานั่งไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว นั่งไปสบายๆ เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจใจเราเป็นคนดู ฝึกเรื่อยๆ สมาธิมันจะได้เข้มแข็งขึ้น ตอนนี้สมาธิมันยังไม่พอ ที่ฝึกอยู่ถูกแล้ว แต่สมาธิมันไม่พอ เราจะต้องฝึกสมาธิให้ได้ในทุกอิริยาบถ เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาเราจะตาย เราจะอยู่ในอิริยาบถอะไร บางคนตายในอิริยาบถเดินก็มี เดินๆ ข้ามถนนรถชนเปรี้ยงตายอยู่กลางอากาศเลย อย่างนั้นก็มี บางคนก็นอนตาย บางคนก็นั่งตาย

ฉะนั้นเราพยายามฝึกให้ได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ดีเฉพาะตอนเดิน ถ้าดีเฉพาะตอนเดินแล้ววันหนึ่งป่วยเดินไม่ได้ เราจะลำบาก ต้องฝึก แล้วใน 4 อิริยาบถ อิริยาบถที่ยากที่สุดคืออิริยาบถนอน เพราะนอนภาวนาเดี๋ยวก็หลับ อันนี้เอาไว้ฝึกทีหลัง หรือไม่ก็ไว้ฝึกตอนจะนอนจริงๆ ก็แล้วไป บางคนก็ใช้วิธีเปิดซีดีหลวงพ่อแล้วก็นอนฟังไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้หลับ อันนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเวลาจะปฏิบัตินั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วก็จะลงไปนอน ขี้เกียจเดินแล้วลงไปนอน แล้วอ้างว่าปฏิบัติอันนี้ไม่ใช่อันนั้นขี้เกียจ ฉะนั้นเราพยายามฝึกให้ได้ในทุกอิริยาบถ อย่างหลวงพ่อกลางคืนบางทีก็นอน นอนแล้วก็ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ อยู่ได้หลายๆ ชั่วโมงก็ไม่หลับหรอก พอจะหลับเราก็คลายสมาธิออกก็จะหลับ ที่ฝึกดีขึ้นแต่สมาธิยังไม่พอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564