การปฏิบัติเริ่มต้นที่จิตจบลงที่จิต

ค่อยภาวนา อย่าทิ้งจิตตัวเอง เรียนรู้จิตตัวเอง เรียนรู้จิตของเราแต่เบื้องต้น เราจะมีศีลอัตโนมัติ เพราะว่ากิเลสใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด เรียนรู้จิตตัวเอง รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตก็หยุดการไหล ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราก็ได้สมาธิที่ถูกต้อง เห็นไหมเรื่องของจิตทั้งนั้นเลย แล้วในขั้นเจริญปัญญา จะเริ่มจากกาย เวทนา อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตจนได้

วิธีล้างความเห็นผิด

จะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5

รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้