การยกระดับความสุข

ฝึกแล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้ แบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด

วิ่งหาความสุข

ความสุขเหมือนภาพลวงตาเหมือนเหยื่อที่อยู่ข้างหน้า หลอกให้เราวิ่งไปหาตลอดเวลา แล้วก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้าท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านไม่ได้สอนให้เราวิ่งหาความสุขซึ่งมันเหมือนภาพลวงตา หาเท่าไรก็ไม่เจอเสียที ท่านบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเรา ต้องพ้นจากความทุกข์ให้ได้ คือท่านมีสติมีปัญญาสูง

โลกเหมือนงูพิษ

พอเราภาวนาเราจะเห็นโลกนี้น่าเบื่อ โลกนี้น่ารังเกียจ โลกนี้สกปรก ใจมันคลายออกจากโลก มันจะยิ่งมีความเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นในการภาวนามากขึ้น แล้วเวลาเราต้องสัมผัสกับโลก สติ สมาธิ มันจะทำงานจี๋ขึ้นมาเลย เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปในฝูงงูพิษ ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ เลย รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็ว อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ

ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ

ยาพิษร้ายแรง คือทำให้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่รอด น้ำตาลหวานๆ คืออะไร คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าเพลิดเพลินทั้งหลาย ความสุขจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้หลอกคนโง่ให้หลงอยู่ แต่ผู้รู้ไม่ติดข้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของมาร เป็นอาวุธของมารในการที่จะจับพวกเราเอาไว้ในอำนาจ คือกามนี่ล่ะ เครื่องมือของมาร จะจับเราเอาไว้ แล้วสัตว์โลกก็ถูกมารนี้ล่ะจับเอาไว้ ดิ้นรนแสวงหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ดิ้นแสวงหากันไป สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า มีเงิน สุดท้ายเงินก็เป็นของคนอื่น มีบ้านสุดท้ายบ้านก็เป็นของคนอื่น มีลูกมีเมีย สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอยู่ดี กระทั่งร่างกายนี้ ของเราๆ สุดท้ายก็ต้องถูกคนเอาไปเผาทิ้ง มันว่างเปล่าไปหมด เรื่องของโลกหาสาระไม่ได้ เมื่อเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ลงมือแสวงหาความสุขที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป ความสุขจากการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความสุขของสมาธิ ความสุขจากการที่จิตมันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกอะไรพวกนี้ มีความสุขผุดขึ้นมา เป็นความสุขจากการเจริญปัญญา ถ้าความสุขจากการสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นเป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง

รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ตั้งใจเสียใหม่ แทนที่จะสนใจแต่คนอื่น สนใจแต่สิ่งอื่น หันมาสนใจร่างกาย จิตใจของตัวเองบ้าง สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในร่างกาย ในจิตใจของตัวเองให้มากๆ เราดูของจริง สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ ดูไป ไม่ใช่เรื่องยาก ในที่สุดปัญญามันก็จะเกิด มันก็จะรู้เลย ทุกสิ่งมันของชั่วคราว สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา รู้ตรงนี้เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ยากหรอก มันยากที่ไม่ยอมรู้

ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

ความสุขในโลกธรรมดาอย่างที่พวกเรารู้จัก ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการสัมผัสทางกาย ความสุขอย่างนี้เร่าร้อนไม่ยั่งยืน ได้มายากเสียไปง่าย รักษาไว้ยาก ความสุขที่สูงขึ้นไป ความสุขในสมาธิได้มาก็ยาก ฝึกกันแรมปีเลยกว่าจะเข้าสมาธิเป็น แล้วก็เสื่อมง่าย สูญเสียง่าย เราเพลินในกามนิดเดียวเท่านั้นเสื่อมหมดเลย ฉะนั้นความสุขของโลก ไม่ว่าจะเป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่ยั่งยืนหรอก

Page 1 of 2
1 2