อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ เรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ เวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

วิหารธรรมที่เหมาะกับเรา

หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียอย่างหนึ่ง ไปดูเอาควรจะอยู่กับอะไร เช่น อยู่กับลมมันละเอียดไป หลงยาว ไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลย ก็ใช้ของที่หยาบขึ้น รู้ยืน เดิน นั่ง นอน มันหยาบไปก็ใช้กลางๆ ขยับก็รู้ไป มันพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป หรือจะดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ถ้าจะดูจิต จิตของเราขี้โลภ เราก็ใช้ความโลภเป็นตัวหลักเป็นวิหารธรรม จิตของเราขี้โกรธก็ใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม จิตของเราฟุ้งซ่านก็ใช้ความฟุ้งซ่านเป็นวิหารธรรม ก็ต้องค่อยๆ หัดดูไป เดี๋ยวก็ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา สุดท้ายก็จะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ก็ได้ธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน

ต้องมีวิหารธรรม

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย

วางขันธ์ 5 เป็นลำดับไป

ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยการเรียงลำดับของพระพุทธเจ้านี้มีขั้นมีตอน เรียงขันธ์ 5 ของที่หยาบที่สุดคือรูปแล้วก็ถึงนามธรรม นามธรรมก็มีส่วนที่หยาบ ส่วนที่ละเอียด เวทนาหยาบที่สุดเลย ดูง่าย ในนามธรรมทั้งหลาย เราค่อยๆ เรียนจากของหยาบที่สุดคือรูป มาเวทนา สัญญา สังขาร เราก็ค่อยแยกๆๆๆ ไปจนถึงตัวจิต เห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ แล้วก็วางเป็นลำดับๆ ไป มันวางรูปได้ก่อน ตรงที่เห็นรูปไม่ใช่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตรงที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน ตรงที่เห็นความจริงว่ารูปไม่ควรยึดถือเพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นล่ะได้พระอนาคามี ตรงที่วางจิตได้ หมดความยึดถือจิต มันก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ วางขันธ์ 5 ได้สิ้นเชิง

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร

เห็นจิตแน่นได้เอง หายเเน่นเอง ไม่ชอบเวลาแน่น เห็นว่าชอบเวลาไม่แน่น

ที่หนูทำนั้นเป็นการเจริญปัญญา ทำได้ดี การเจริญปัญญาถ้าทำรวดไปเลย จิตไม่ได้พัก ถึงจุดหนึ่งจิตจะไม่มีกำลังมันจะฟุ้งซ่าน พอจิตมันเหนื่อยขึ้นมามันจะไปติดอยู่ในว่างๆ สว่างว่างๆ เฉยๆ เพราะจิตมันพักไม่พอ เพราะอย่างนั้นมาทำสมาธิให้มันเป็นเรื่องเป็นราว นั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถึงเวลาเราก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำด้วยความอยาก สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง แต่จิตจะได้พัก จิตได้พักแล้วเราจะเห็นสภาวะทำงานได้ดี

Page 2 of 2
1 2