หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

ความเป็นปกติของจิต

พยายามฝึกตัวเองในทุกที่ทุกสถานการณ์ จะต้องฝึกตัวเองให้จิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้

ศัตรูสำคัญที่ทำให้เราภาวนาไม่สำเร็จก็คือความฟุ้งซ่าน ในนิวรณ์ 5 ตัว ตัวฟุ้งซ่านมันเกิดบ่อยที่สุด กามฉันทะ นิวรณ์ ความผูกพัน พออกพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็มีเป็นคราวๆ ความฟุ้งซ่านมีตลอด นิวรณ์ มันเป็นเครื่องกั้นความเจริญ จะทำสมาธิ มีนิวรณ์ มันก็ไม่เจริญ จะเจริญปัญญา เกิดนิวรณ์ก็ทำไม่ได้

ฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างดูไม่น่าจะมีพิษมีภัย อย่างเรื่องฟุ้งซ่าน คุยไม่เป็นเรื่องเป็นราว ดูแล้วไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้ทำชั่วร้ายอะไร คุยทักทาย ปฏิสันถารไม่รู้จักจบจักสิ้น สิ่งที่เสียไปก็คือความเป็นปกติของจิต จิตที่จะเจริญสมาธิได้ก็ต้องเป็นปกติ ถูกกิเลสย้อมอยู่ ก็ไม่ปกติ จิตจะเจริญปัญญา ก็ต้องปกติ

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

เป็นคนรักกายมาก แต่ดูกายแล้วไม่มีความสุข ใจมันเฉย ไม่สดชื่น พอมาดูจิต ใจตื่นเบิกบาน

มีปัญญาแก่กล้า ดูกายแล้วจืดๆ เฉยๆ ถ้าดูจิตมันโลดโผน ทำงานสารพัด ดูจิตก็ได้ แต่ไม่ทิ้งสมาธิ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วจะดูจิตไม่ได้จริง จิตมันจะไปว่างๆ อยู่ข้างนอก ฉะนั้นเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป หายใจไป พุทโธไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหนีไปก็รู้ ถ้าจิตไม่มีที่อยู่ มันหนีไปเราไม่รู้หรอกว่ามันหนี แต่ถ้าจิตมันมีฐานที่มั่นอยู่ พอมันหลุดออกจากที่มั่นของมัน เราจะรู้ว่ามันเคลื่อนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรมเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ในสติปัฏฐาน 4 ตัวแรกเลยที่ท่านสอนคือการมีวิหารธรรม ให้ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม เริ่มต้นก็คือต้องมีวิหารธรรมก่อน

ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย

เวลามีเวลาว่าง 5 นาที 2 นาที 3 นาทีอะไรอย่างนี้ อย่าทิ้งเปล่าๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อยู่ก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่สบายๆ ไม่ได้อยู่คุก เวลาจิตต้องการไปรู้อารมณ์อื่นๆ มันจะไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้มากๆ มากที่สุดที่จะมากได้ มีนาทีหนึ่งก็ฝึกนาทีหนึ่ง มี 5 นาทีก็ฝึก 5 นาที 10 นาทีก็เอา เก็บเล็กเก็บน้อยทั้งวัน ถ้าทั้งวันจิตเราออกข้างนอก ไม่เคยกลับบ้าน คือทิ้งวิหารธรรมไป จิตหนีไปตลอด ตกเย็นจะไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน เพราะมันฟุ้งมาทั้งวันแล้ว จิตมันก็เหนื่อย พอจิตเหนื่อย พอไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ หรือบางคนมันฟุ้งแล้วมันยังฟุ้งได้ไม่ถึงใจ พอนั่งสมาธิมันก็ฟุ้งต่อ ฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในตัวเอง เราไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ มี 5 นาที 10 นาทีอะไร เก็บให้หมดเลย

Page 1 of 2
1 2