เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

ที่พักของจิต

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลาย

ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล