กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

การยกระดับความสุข

ฝึกแล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

แก้มิจฉาทิฏฐิด้วยวิปัสสนา

ตัวที่จะช่วยแก้มิจฉาทิฏฐิเราได้มีตัวเดียวเอง คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเห็นรูปธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รูปก็มีเหตุสัมพันธ์สืบเนื่องกันไป อย่างร่างกายเราอาศัยธาตุมาประชุมกัน มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ร่างกายเราก็ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนไป จากตัวเล็กก็ตัวโตขึ้น โตเต็มที่แล้วก็เริ่มตัวฝ่อลงไป สุดท้ายก็แตกสลาย จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราภาวนาเราก็จะเห็น จิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป